![]() มหาอุทกภัย 2554 : เหตุสุดวิสัยหรือไร้ฝีมือ ปัญหาและทางออก
ก. รศ. ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มองใน 2 มิติ คือ รัฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทั้งสองล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เช่น การแบ่งส่วนราชการ รูปแบบการปกครอง การเมือง และหลักนิติธรรมที่ไม่สามารถจะนำผู้กระทำผิดต่อทรัพย์สินสาธารณะมาดำเนินการตามกฎหมายได้ ข. รศ. ดร.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นว่าภัยพิบัติจากน้ำท่วมสะท้อนว่าระบบการเมืองและการปฏิรูประบบราชการล้มเหลว การเลือกตั้งที่ผ่านแสดงว่าคนไทยขาดตรรกะในคุณสมบัติของผู้นำที่จะมาบริหารประเทศ ไม่เข้าใจว่าผู้ที่จะนำประเทศได้จะต้องสั่งสมประสบการณ์มาอย่างน้อยระยะหนึ่ง ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ผ่านการเลือกตั้งแล้วก็สามารถจะเป็นผู้บริหารประเทศได้ ส่วนการปฏิรูประบบราชการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2545 ก็ยังไม่สามารถทำให้หน่วยราชการต่างๆ ทำงานเป็นเครือข่ายกันได้ เพราะต่างคนมุ่งแต่ผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานตนเอง หากเกิดภัยพิบัติที่หนักกว่านี้ สังคมอาจจะล่มสลายได้ ค. รศ. สุชาติ นวกวงศ์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แยกคำตอบใน 3 ประเด็น คือ ด้านสังคม แสดงว่าประชาชนไม่รู้และสับสนในข้อมูลที่ได้รับ ด้านเศรษฐกิจ ต่างคนต่างป้องกันพื้นที่ของตน เมื่อไม่สำเร็จก็เท่ากับความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจที่ซ้ำซ้อนกัน และด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนน้ำท่วม ประชาชนไม่สนใจและไม่เข้าใจปัญหาโลกร้อน และหลังน้ำลด ก็ยังไม่เข้าใจว่าจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เช่น น้ำเน่า ของเสีย ขยะ สารเคมี ฯลฯ ง. ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า น้ำท่วมมีผลกระทบในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน คือบางพื้นที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นต้น ก. รศ. อดิศร์ มองว่าเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ในทั้งสามกรณีคือ หนึ่ง ไม่รู้ปัญหาและทางแก้ปัญหา เช่น ป่าเสื่อมโทรมทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ดี สร้างถนนสูงกีดขวางทางน้ำไหล การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ เป็นต้น สอง ไม่มีการบูรณาการในระหว่างหน่วยงานภาครัฐและระหว่างภาครัฐกับเอกชน สาม หลักนิติธรรมเปราะบาง ขาดหลักยุติธรรมในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งรวมถึงหลักการในการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ผู้ไม่ได้รับผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมกับภาครัฐด้วย ไม่ใช่การผลักภาระไปให้รัฐแต่ฝ่ายเดียว ข. รศ.ทวีศักดิ์ เห็นด้วยว่าเป็นความผิดของมนุษย์ในการบริหารจัดการ ด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์ว่าน้ำไม่ท่วมที่ลุ่มบางแห่งแต่กลับท่วมที่ดอนบางแห่งเพราะมนุษย์จัดการให้เป็นเช่นนั้น โดยให้ข้อคิดว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่ให้ความสำคัญในการพาน้ำออกสู่ทะเลเป็นลำดับแรก ค. ดร.เดชรัตน์ มีความเห็นว่า แม้สาเหตุหนึ่งจะเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถจะนำมาอ้างได้ เพราะฝ่ายบริหารต้องเข้าใจว่าภัยธรรมชาติจะเกิดถี่ขึ้นจึงต้องเตรียมพร้อมรับ สาเหตุสอง คือ ระบบนิเวศน์และวัฒนธรรมเปลี่ยนไป แม่น้ำลำคลองที่เคยเป็นทางสัญจรทางระบายน้ำถูกละเลยจนตื้นเขินมีอาคารสร้างขวางทาง สุดท้ายเมื่อเข้าช่วงเวลาที่ฝนตกหนักตามธรรมชาติน้ำอาจจะท่วมได้แต่ก็ไม่มีการเตรียมการณ์ล่วงหน้า เมื่อฝนมาน้ำท่วมแล้วต่างคนก็ต่างทำคันกั้นน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตนเอง กว่าจะคิดได้ว่าควรเร่งหาทางทำให้น้ำผ่านไปเร็วที่สุดก็ท่วมมิดนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งไปแล้ว ส่วนที่เกิดจากการบริหารจัดการนั้นเห็นชัดว่าไม่ได้ให้ความสำคัญครบทุกด้าน ขาดข้อมูลชัดเจนในการสื่อสารกับประชาชน คนฟังแล้วไม่เข้าใจ เตรียมตัวไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้จริง ไม่มีการแนะนำว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร แม้กระทั่งหลังน้ำลด ก็ยังไม่มีคำแนะนำในการกำจัดขยะ เป็นต้น จึงสรุปได้ว่าความผิดเพราะการจัดการนั้นมีมากถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ง. รศ. สุชาติ กล่าวว่า สาเหตุมาจากธรรมชาติที่ป้องกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดแล้วไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติจึงบริหารจัดการผิด ขาดการประสานงานกัน และมีการกดดันการบริหารเชิงการเมือง ทำให้นักวิชาการจัดการน้ำไม่สามารถจะทำงานเต็มที่ จึงสรุปว่าเป็นความผิดในการบริหารเช่นกัน ก. ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้เกินกว่าขีดความสามารถของทั้งประเทศจะรองรับ ในระยะสั้นผู้ได้รับผลกระทบสูงสุดคือคนจนที่เป็นหนี้นอกระบบ รัฐบาลต้องหาทางเยียวยาแก้ไข ส่วนระยะยาวต้องมีมาตรการชัดเจน เช่น จะสร้างแก่งเสือเต้นหรือไม่ ทำอย่างไรกับอาคารที่ปลูกขวางทางน้ำ หรือแม้แต่ลดการทำนาปรังเหลือเพียงปีละสองครั้ง เป็นต้น ข. รศ.สุชาติ แม้จะมองว่าน้ำท่วมทำให้คนไทยได้แสดงน้ำใจต่อกันอย่างมากมายแต่ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่ในมุมกลับ น้ำท่วมก็ทำให้คนทะเลาะกัน เช่น เรื่องการกั้นบิ๊กแบ็ก เป็นต้น ผลกระทบระยะยาวคือความเสียหายจากที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น หากแก้ไขไม่ได้ จะเกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศถ้าภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ค. ดร.เดชรัตน์ เห็นด้วยว่าน้ำท่วมทำให้ทุกคนเสียโอกาส ทั้งเกษตรกรและแรงงานภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรที่สูญเมล็ดพันธุ์อาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าหรือเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อที่ปลูกซ้ำไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากที่อื่นไปตลอดกาล ง. รศ.ทวีศักดิ์ เสนอการแก้ปัญหาโดยให้รัฐมีอำนาจและองค์กรกลางในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ปล่อยให้แต่ละหน่วยงานกลางหรือท้องถิ่นดูแลจัดการกันเอง แม้ในเรื่องการปกครอง ต้องทบทวนใหม่ว่าปทุมธานีหรือนนทบุรีควรจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือไม่ ก. ดร.อดิศร์ เสนอให้ประชาชนเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม ปัญหาอุทกภัยมีสองหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือกรมบรรเทาสาธารณภัยและกรมทรัพยากรน้ำ ควรหาข้อมูลว่าสองกรมนี้มีบทบาทอย่างไรในวิกฤตที่ผ่านมา ข. รศ.สุชาติ เห็นว่าที่ผ่านมาประชาชนให้ความสนใจในนโยบายสาธารณะน้อยไปและไม่ค่อยมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ควรมีการทำโซนนิ่ง [Zonning] หรือกำหนดเขตการใช้ที่ดิน และมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้แต่ไม่ใช่การขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้น ค. ดร.เดชรัตน์ ประทับใจชาวตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีการทำแผนป้องกันความเสียหายล่วงหน้าไว้ทั้งตำบล มีทั้งแผนที่แสดงระดับน้ำหากเกิดน้ำท่วม บริเวณที่จะท่วมก่อนหลังตามลำดับ แนวเส้นทางระบายน้ำ ฯลฯ เมื่อน้ำท่วมจึงระบายเร็วไม่เกิดความเสียหาย นอกจากนั้นยังมีการย้ายพันธุ์พืชสำคัญไปในที่ที่น้ำไม่ท่วมล่วงหน้า วิธีแก้ปัญหาของชาวคลองจินดาทำให้ทุกคนต้องมองตนเองว่าเราสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัวน้อยเกินไปหรือไม่ ง. ดร.ธนวรรธน์ เห็นด้วยว่าการช่วยเหลือตนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาใช้ เริ่มจากต้องรู้ธรรมชาติของน้ำ มีคุณธรรมกับสิ่งรอบตัว และสร้างภูมิคุ้มกันตนเองพอประมาณ ให้ทำชุมชนที่เราอยู่ให้เข้มแข็งก่อนแล้วจึงเชื่อมต่อกันให้ชุมชนกดดันประเทศได้ จ. รศ.ทวีศักดิ์ เสริมในเรื่องการพึ่งตนเองว่าทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติเพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องเมื่อเกิดเหตุร้าย รัฐต้องจัดระบบการฝึกซ้อมป้องกันดูแล ที่สำคัญคือประชาชนต้องมีวินัยจึงจะรับมือภัยพิบัติได้
ผู้เข้าร่วมสัมมนา
From : http://www.fpps.or.th |