กิจกรรม (Thai)
เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ

สถาบันนโยบายศึกษาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในเรื่องของการชุมนุมในที่สาธารณะอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการรับฟังเสียงจากกลุ่มนักธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในภาคประชาสังคม

การเสวนาครั้งนี้ จัดเมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ห้องกมลพร โรงแรมสยามซิตี ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา เปิดการเสวนาโดยแนะนำสถาบันฯ และวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า เพื่อให้ผู้วิจัย คือ คุณโสพล จริงจิตร ได้รับข้อมูลความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้จัดการเสวนาในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกเป็นการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มนักวิชาการ-นักกฎหมาย-เจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ที่เคยร่วมการชุมนุมด้วยตนเอง ครั้งที่ 3 เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากลุ่มชาวบ้านผู้มีประสบการณ์ในการชุมนุม การจัดครั้งที่ 4 นี้จึงอยากจะรับทราบความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นอกจากท่านที่ยินดีมาร่วมการเสวนาในวันนี้แล้ว ยังมีอีก 2-3 ท่านที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว ซึ่งสถาบันฯ และคุณโสพล จะได้ไปพบในโอกาสต่อไป

(จากซ้าย) คุณธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ ผู้ดำเนินรายการ และคุณโสพล จริงจิตร ผอ. สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สนง.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คุณโสพล จริงจิตร ได้กล่าวโดยย่อถึงการศึกษาถึงกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะในบางประเทศ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในเอเชีย ที่บ้างก็มีกฎหมายโดยเฉพาะ และบ้างก็นำกฎหมายอื่นมาอนุโลมใช้ แต่ไม่ว่าจะมีกฎหมายใช้ควบคุมหรือไม่ก็ตาม ในระยะหลังนี้การชุมนุมในที่สาธารณะได้ลุกลามเป็นการจลาจล นองเลือดและเผาบ้านเผาเมือง แม้กระทั่งในประเทศที่เราคิดว่าเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น เหตุการณ์ในฝรั่งเศส หรืออังกฤษที่เพิ่งจะเกิดเมื่อเร็วๆ นี้

จากการรับฟังความเห็นใน 3 รอบที่ผ่านมา ผู้ร่วมเสวนายังมีแนวคิดที่แตกต่างเป็นสองขั้ว คือ เห็นด้วยกับการมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ และไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมาย โดยแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลที่น่ารับฟัง เช่น ฝ่ายเห็นด้วยคิดว่าถึงอย่างไรการมีกฎหมายก็ดีกว่าไม่มี เพราะจะเพิ่มความชัดเจนในแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและเป็นกรอบแก่ผู้ชุมนุมว่าสิ่งใดผิดไม่สามารถจะกระทำได้ ฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วยในการมีกฎหมายให้เหตุผลว่า เมื่อการชุมนุมยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ไม่มีใครสนใจเคารพกฎกติกา จะมีกฎหมายหรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน และอีกเหตุผลที่เห็นว่าไม่ควรมีกฎหมายเพราะจะเป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิในการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศการเสวนา

ก่อนที่จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็ยากจะคาดเดาได้ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะสามารถออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ เพราะในขั้นตอนที่ผ่านมานั้น นอกจากจะได้รับเสียงคัดค้านจากกลุ่มเอ็นจีโอแล้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้านในเวลานั้น ก็ยังไม่สนับสนุนอีกด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยกร่างกันใหม่ก็ได้

จากนั้น คุณธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ ผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญให้ผู้เข้าเสวนาแสดงความคิดเห็นว่าควรหรือไม่ควรที่จะมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยทุกคนได้ผลัดกันแสดงความเห็นพร้อมทั้งเหตุผลประกอบ โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและค้าน และยังมีผู้แสดงความเห็นว่าจะมีกฎหมายหรือไม่ก็ไม่มีความแตกต่าง หากการชุมนุมเกิดจากสาเหตุทางการเมือง เช่น การชุมนุมของผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) หรือกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อแดง)

บรรยากาศการเสวนา

ยังมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายมีความกดดันจากการทำงานที่ต้องการรักษาความสงบหรือไม่ อยากให้มีการชุมนุมจนกระทั่งเกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่อผู้ชุมนุม มีผู้เสนอว่าต้องปรับความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ภาครัฐว่า รัฐไม่ใช่คู่กรณีของผู้ชุมนุม แต่เป็นผู้มาแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายจนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม คุณธีรพันธ์ มีความเห็นว่า บางทีเราอาจจะนำแนวคิดของกฎหมายต่างประเทศมาใช้ว่าเจ้าหน้าที่คือผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจจะผิดก็ได้

มีผู้แสดงความเห็นว่า การมีกฎระเบียบไม่สามารถจะควบคุมทุกอย่างได้หากวัฒนธรรมยังไม่เปลี่ยน ดังนั้นการชุมนุมที่ถูกต้องคือต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั้งในมิติที่มองว่าผู้มาชุมนุมคือตัวแทนของคนที่เดือดร้อนที่มีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาชุมนุมด้วยซ้ำ และในมิติที่ว่าคนส่วนใหญ่คือผู้ที่ไม่ได้มาชุมนุม แต่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม


Dr.Clauspeter Hill ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์
ประจำประเทศไทยมาร่วมเสวนาด้วย
ท้ายที่สุด หลังจากที่ผู้เข้าเสวนาได้แสดงความเห็นกันหลายๆ รอบแล้ว คุณโสพล จริงจิตร ได้สรุปว่า ส่วนใหญ่ที่แสดงความเห็นมีความเห็นว่าควรมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อเป็นกรอบกติกาในการปฏิบัติ รวมทั้งยังจะเป็นมาตรการที่กำหนดให้ภาครัฐต้องตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่กระนั้นก็ตาม ภาคประชาสังคมเรียกร้องที่จะมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ในการออกแบบร่างกฎหมายฉบับนี้ และยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะอาจจะไม่สามารถใช้กับการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองได้ รวมทั้งมีแนวคิดใหม่ที่เรียกร้องให้มีแนวปฏิบัติ [Code of Practice] ของเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะวางตัวเป็นกลางได้ จึงเรียกร้องให้มีแนวปฏิบัติเพื่อกำกับให้มีการทำงานเช่นมืออาชีพ

ก่อนปิดการเสวนา คุณทิพย์พาพร ได้แสดงความเห็นเป็นครั้งสุดท้ายว่า โจทย์สำคัญที่สุดในเรื่องนี้และอาจจะทุกเรื่องมิใช่การมีกฎหมายหรือไม่ แต่อยู่ที่คน ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกฎหมายคือการพัฒนาคน ไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐ หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน

From : http://www.fpps.or.th