บทความ (Thai)
พี่ทิพย์ไปสิงคโปร์ : เสวนา “เยอรมันกับอาเซียน” ที่สิงคโปร์

ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

เมื่อวันที่ 22 – 24 มิถุนายน 2554 มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ที่ประเทศสิงคโปร์ได้จัดงานเสวนาเรื่อง เยอรมันกับกลุ่มประเทศอาเซียน (ASIAN-German Dialogue) โดยเชิญผู้เข้าร่วมวงเสวนาครั้งนี้จาก 7 ประเทศคือ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา โดยเป็นการมาพบปะกันฉันท์คนคุ้นหน้า ซึ่งผู้ที่ได้รับเชิญก็เป็นผู้ที่เคยได้รับทุนการศึกษา และผู้ที่ได้ไปศึกษาดูงานในประเทศเยอรมัน ส่วนหนึ่งจึงได้มีการรู้จักและพบกันมาก่อนแล้วจากกิจกรรมระหว่างประเทศที่สนับสนุนโดยมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์

ผลจากการประกาศรวมตัวอย่างเหนียวแน่น ที่จะให้มีผลในทางปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ในอีก 4 ปีข้างหน้า คือ 2558 ทำให้ประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มอาเซียนที่ประกอบด้วย 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลย์เซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า เมื่อรวมกันแล้วมีประชากรประมาณ 590 ล้านคน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความสงบ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีโอกาสด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดี และยังอยู่ติดกับประเทศที่มีความรุดหน้าทางเศรษฐกิจสูง เช่น จีน และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันแล้วประมาณ 2 พันกว่าล้านคน ซึ่งต่างจากประเทศในกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

การพบปะกันของกลุ่มนักวิชาการ ข้าราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชนในงานเสวนาครั้งนี้จึงมีประเด็นที่อยู่ในความสนใจของทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งเยอรมันและชาวประชาคมอาเซียน อีกทั้งการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้ที่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน และระหว่างชาวอาเซียนกับเยอรมัน เพื่อให้ความร่วมมือที่มีอยู่แล้วระหว่างกันได้สานต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

หัวข้อหลักที่นำมาแลกเปลี่ยนในช่วง 2 วัน มีทั้งหมด 7 เรื่อง คือ
  1. ความท้าทายและมุมมองต่อการรวมตัวกันของประเทศในประชาคมอาเซียน (ASEAN)
  2. พันธกิจและกิจกรรมของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
  3. ความท้าทายของพรรคการเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน
  4. การพัฒนาสื่อในอาเซียน
  5. สิ่งแวดล้อมและการปกป้องภูมิอากาศ : สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข
  6. การวางแผนการใช้ที่ดินในสิงคโปร์ : เยี่ยมชมการพัฒนาเมืองสิงคโปร์


ในหัวข้อแรกนั้น เป็นการนำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ของอดีตเลขาธิการอาเซียนชื่อ Mr.Rodoifo Severino ท่านผู้นี้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 1998 – 2002 ซึ่งท่านได้ย้ำถึงเจตนารมณ์อาเซียนที่จะสร้างความร่วมมือกันในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งของอาเซียน แม้ว่าแต่ละประเทศจะแตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรม และลักษณะภูมิศาสตร์ ที่มิได้ติดต่อเชื่อมโยงกัน เช่น กลุ่มประเทศยุโรปก็ตาม แต่ความแตกต่างเหล่านี้ต้องถือเป็นจุดแข็งของแต่ละประเทศที่จะเสริมให้ความเป็นอาเซียนมีเสน่ห์ท่ามกลางความหลากหลาย และมีเอกภาพภายใต้ความร่วมมือทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม เพื่อสันติสุขของอาเซียน นอกจากนี้ท่านยังได้แสดงความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งประเทศอินโดนีเซียยินดีที่จะเข้ามาช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต่อไป

ในข้อที่สองพันธกิจและกิจกรรมของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมี 2 ระดับ คือ ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เพราะมูลนิธิฯ แบ่งงานชัดเจนคือมีผู้แทนมูลนิธิฯ ประจำประเทศต่างๆ อยู่แล้วที่จะดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนในระดับระหว่างประเทศนั้นจะมีผู้แทนมูลนิธิระดับภูมิภาค ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ การเสวนาหัวข้อนี้ก็เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งการทำงานของมูลนิธิในอาเซียนให้สามารถสร้างเครือข่ายการทำงานกลับกลุ่มและองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับเชิญมาครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ที่เคยได้ทำงาน ได้รับทุนและได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมัน โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฯ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ตอกย้ำถึงพันธกิจด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพันธกิจที่ทำให้เยอรมัน-อาเซียน สามารถทำงานร่วมกันได้และส่งเสริมซึ่งกันและกัน

สำหรับหัวข้อที่ 3 – 5 นั้น เป็นการนำเสนอประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ในอาเซียน ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนาการแลกเปลี่ยนมุมมองจากประเทศทั้ง 7 ประเทศที่ไปครั้งนี้ ทำให้เข้าใจวิธีคิดและมุมมองที่มาจากต่างประสบการณ์ ต่างวัฒนธรรมได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจถึงข้อจำกัดต่างๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน และมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทำให้การพบปะกันครั้งนี้ได้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหา และวิธีคิด สามารถนำมาปรับใช้ได้ในบางประเทศ และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและความช่วยเหลือระหว่างกันได้อีกด้วย

ส่วนหัวข้อสุดท้าย เรื่องการวางแผนการใช้ที่ดินของสิงคโปร์ ซึ่งได้ไปเยี่ยมชมที่สำนักงานแสดงแผนผังของเมืองที่ทันสมัย สีสันสวยงาม ไม่เหมือนสำนักทั่วไปเรียกว่า The Singapore City Gallery การได้เยี่ยมชมและฟังคำบรรยายสรุป ทำให้รู้สึกประทับใจและภูมิใจกับชาวสิงคโปร์ที่ได้มีการออกแบบและวางแผนการใช้ที่ดินและทางน้ำอย่างสมค่า มีการกันพื้นที่ไว้สำหรับเขตต่างๆ อย่างชัดเจน การพัฒนาที่ดินของสิงคโปร์จะต้องกันไว้ให้มีพื้นที่สีเขียว และปลูกต้นไม้เสมอ ส่วนพื้นที่ใกล้ทะเลและน้ำก็เช่นกันจะมีพื้นที่จัดระยะเพื่อการใช้ประโยชน์ของน้ำ ความปลอดภัยและสวยงาม ทำให้เกาะสิงคโปร์มีเสน่ห์ สะอาด มีความหลากหลายของสถาปัตยกรรม การเล่นสีสันสวยงามของตึกอาคารต่างๆ อีกทั้งยังมีวินัย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทุกพื้นที่ ความน่าสนใจของสิงคโปร์อีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันนี้สิงคโปร์ไม่ต้องซื้อน้ำดื่มจากมาเลย์เซียแล้ว เพราะสามารถผลิตได้เองจากแหล่งน้ำที่มีอยู่บนเกาะเล็กๆ ของตัวเอง และได้ความรู้อีกว่าน้ำที่ใช้ในชีวิตประจำตามตัวตึกอาคารต่างๆ ทุกแห่งเป็นน้ำเสียที่นำมารีไซเคิลใหม่ให้เป็นน้ำที่สะอาดเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่สามารถดื่มได้ แต่นำกลับเข้าไปใช้ตามตึกอาคารบ้านช่องได้หมด และเหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ก็นำกลับไปสู่แม่น้ำลำคลอง น้ำจากแหล่งธรรมชาติเหล่านี้ก็จะนำกลับมาผลิตเป็นน้ำดื่มบนเกาะสิงคโปร์โดยไม่ต้องน้ำเข้าอีกต่อไป การวางแผนพัฒนาเมืองของเขาจัดเป็นนิทรรศการทันสมัยให้ดูด้วย เห็นได้ชัดเจนว่าเขามีแผนทุกๆ 10 ปี และทำสำเร็จตามแผน เกาะเล็กๆ จึงอุดมด้วยต้นไม้สีเขียวสวยงามได้รูปทรงตามธรรมชาติ ถนนหนทางสะอาดตา แหล่งน้ำลำธารสวยและใสสะอาด อาคารใหญ่น้อยมีสีสดสวยและรูปทรงสะดุดตา สิงคโปร์จึงเป็นเกาะที่น่ามาเที่ยวประชุมสัมมนา เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวทั้งของภูมิภาคและของโลกอีกด้วย

ผู้ที่ร่วมเดินทางไปครั้งนี้นอกจากผู้เขียนแล้วก็มีอีกหลายท่าน คือ ศ.ดร.อักขราทร จุฬารัตน์ ดร.โคทม อารียา ดร.นวลวรรณ สุนทรภิษัช คุณวิลาศ โลหิตกุล คุณวิลาศ เตโช ดร.ทิวากร แก้วมณี และ ดร.ยูซุป จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยเฉพาะ ศ.ดร.อักขราทร เป็นตัวแทนประเทศไทยนำเสนอเรื่องการพัฒนากฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบริบทของไทย และ ดร.โคทม นำเสนอเรื่องความท้าทายสำหรับพรรคการเมืองในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจและมีการซักถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้มาก โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตความขัดแย้งในสังคมไทย


Dr.Clauspeter Hill ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย และ ศ.ดร.อักขราทร จุฬารัตน์

หมู่ผู้เข้าร่วมเสวนาและผู้แทนมูลนิธิคอนราดฯ ในอาเซียน

การเสวนาครั้งนี้จึงได้ทั้งเพื่อนจากประเทศต่างๆ ที่มาครั้งนี้ ได้เรียนรู้ระหว่างกันและได้ประสบการณ์เพื่อมาปรับใช้ทั้งในชีวิตและการงานอีกด้วย ขอขอบคุณมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เช่นนี้อยู่เสมอๆ ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ

From : http://www.fpps.or.th