|

มิถุนายน 2554 : 5 พรรคใหญ่ชูนโยบายประชานิยมหาเสียง
5 พรรคใหญ่ชูนโนบายประชานิยมหาเสียง
ไฟเขียวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กทม.
ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี อีก 4เดือน
ข้าราชการใส่ชุดไทยสัปดาห์ละ 1 วัน
ลงทะเบียนคนไร้รากเหง้า
สุราเป็นเหตุให้บ้านแตก
เด็กไทยไร้ภูมิป้องกันสื่อ
จบ ป.ตรี ว่างงานมากที่สุด
นโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง
ในช่วงหาเสียงบรรดาพรรคการเมืองต่างประกาศนโยบายว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไรบ้างให้แก่ประชาชน ซึ่ง ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้รวบรวมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 5 พรรคไว้ พร้อมทั้งประมาณวงเงินค่าใช้จ่ายของแต่ละนโยบายเอาไว้ดังนี้
พรรคประชาธิปัตย์
| นโยบาย | ประมาณวงเงิน (ล้านบาท) | 1 | ไฟฟ้าฟรีถาวร สำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน | 14,400 | 2 | ตั้งกองกำลังพิเศษ 2,500 นาย จัดการปัญหายาเสพติด (ประมาณได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มวันละ 300 บาท) | 273 | 3 | เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 6.5 ล้านคนเดือนละ 500 บาท | 39,000 | 4 | โครงการบ้านมั่นคง | 44,000 | 5 | บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ | 130,000 | 6 | เพิ่มเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีก 250,000 คน รวมเป็น 801,155 คน | 46,467 | 7 | พัฒนาศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในทุกพื้นที่ 19,000 ศูนย์ ( คาดแห่งละ 2 ล้านบาท) | 38,000 | 8 | เพิ่มเงินกำไรจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรเป็น 50 % | 100,000 | 9 | ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 (ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 1,320 บาทต่อคนต่อเดือน) (คาดมีผู้ได้ประโยชน์ 3 ล้านคน คิดเป็นภาระของนายจ้างเพิ่มขึ้น) | 47,520 | 10 | จัดโฉนดชุมชนให้เกษตรกรมีที่ทำกินอีก 250,000 คน | ไม่มีตัวเลข | 11 | ปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบ ให้ครบ 1 ล้านคน (เฉลี่ยหนี้รายละ 100,00 บาท ต้นทุนดอกเบี้ย 6%) | 6,000 | 12 | ขยายประกันสังคมให้เกษตรกรและแรงงานนอกระบบ รวม 24 ล้านคน | 8,640 | 13 | จัดให้มีบำนาญประชาชนหลังอายุ 60 ปีให้แรงงานนอกระบบ (รัฐร่วมสมทบในกองทุนการออมแห่งชาติ) | 22,000 | 14 | พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างสินค้าและบริการ | 20,000 | 15 | รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เชื่อมคุนหมิง ภาคอีสานสู่ภาคใต้ไปยังมาเลเซีย | 380,000 | 16 | สร้างแหลมฉบับให้เป็นเมืองท่าสมบูรณ์แบบ [Harbour City] พร้อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ แหลมฉบัง ระยอง และเครือข่ายโลจิสติกส์ | 100,000 | 17 | พลิกโฉมเมืองท่องเที่ยวตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ และแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “มนตร์เสน่ห์แห่งเอเซีย” | 10,000 | 18 | ขยายบรอดแบรนด์แห่งชาติ 3จี อินเทอร์เน็ตชุมชน สู่ทุกตำบลทั่วประเทศ | 8,000 | 19 | ขยายพื้นที่ชลประทาน ประปาชุมชน | 300,000 | 20 | ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า 12 สาย ใน กทม. และปริมณฑล | 250,000 | | รวมวงเงิน | 1,564,300 |
พรรคเพื่อไทย
| นโยบาย | ประมาณวงเงิน (ล้านบาท) | 1 | พักหนี้เกษตรกร ไม่เกิน 500,000 บาท 5 ปีและหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ยืดหนี้ 10 ปี (ยอดสินเชื่อคงค้าง ธ.ก.ส. 600,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7% ต่อปี) | 210,000 | 2 | โครงการรถไฟฟ้า ประกอบด้วยรถไฟฟ้า 10 สายรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย | 250,000 | 3 | รถไฟเชื่อมต่อชานเมืองกรุงเทพฯ | ไม่มีข้อมูล | 4 | รถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา-ระยอง-จันทบุรี รวม 260 กม. (มูลค่ารถไฟความเร็วสูงเบื้องต้น 300 ล้านบาทต่อ กม.) | 78,000 | 5 | ขยายแอร์พอร์ตลิงค์-พัทยา (แอร์พอร์ตลิงค์มูลค่าลงทุน 80,000 ล้านบาท) | ไม่มีข้อมูล | 6 | ภาคใต้ทำแลนด์บริดจ์ | 100,000 | 7 | สนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบิน | 73,000 | 8 | ชลประทานระบบท่อ 25 ลุ่มน้ำ | 400,000 | 9 | เพิ่มกองทุนหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท (ประเทศไทยมีหมู่บ้านประมาณ 80,000 หมู่บ้าน) | 80,000 | 10 | รีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคลไม่เกิน 5 แสนบาท นาน 3 ปี และหนี้เกิน 5 แสนถึง 1 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ | 10,000 | 11 | โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค | 130,000 | 12 | จบปริญญาตรีมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท (บัณฑิตจบใหม่ต่อปี 4 แสนคน เงินเดือนปัจจุบัน 10,600 บาท) | 704 | 13 | ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ | ไม่มีตัวเลข | 14 | ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากปัจจุบัน 30% เหลือ 25% สูญเสียรายได้ (1% ของภาษีที่ลดลงเท่ากับ 14,000 ล้านบาท) | 70,000 | 15 | ขจัดความยากจนต้องหมดภายใน 4 ปี | ไม่มีข้อมูล | 16 | ออกบัตรเครดิตการ์ดสำหรับเกษตรกร (เกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือน ต้องการสินเชื่อ 30,00 บาทต่อฤดูการผลิต) | 174,000 | 17 | โครงการรับจำนำข้าว (ผลผลิตข้าว 30 ล้านตันต่อปี แต่ในอดีตรัฐบาลรับจำนำข้าวไม่เกิน 7-8 ล้านตัน) | 450,000 | 18 | ให้เด็กไทยได้ใช้คอมพิวเตอร์แทบเล็ตทุกคน ให้บริษัทต่างๆ มีระบบ WiFi | | | รวมวงเงิน | 2,025,704 |
พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
| นโยบาย | ประมาณวงเงิน (ล้านบาท) | 1 | เกษตรกรไทยต้องรวยด้วยนโยบาย ดังนี้ รับจำนำข้าว หรือ ประกันรายได้ (คิดจากฐาน 30 ล้านตันข้าวเปลือกคูณราคาประกันรายได้/ราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท หารครึ่ง) | 225,000 50,000 | 2 | ตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพราคาพืชผล | ไม่มีข้อมูล | 3 | ผักสด-ปลดหนี้เกษตรกร (คิดฐานจากสินเชื่อคงค้าง ธ.ก.ส. 600,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ต่อปี) | 42,000 | 4 | ขยายวงเงินสินเชื่อเกษตรกรอีก 250,000 ล้านบาท (เดิม ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อปีละ 4 แสนล้านบาท) | 650,000 | 5 | ตั้งธนาคารสหกรณ์-นำพืชเกษตรสู่พืชพลังงานทุนประเดิมปกติ | 1,000 | 6 | สร้างเถ้าแก่เงินล้านด้วยทุน 1 ล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ SMEs ในระบบเป็น 2 ล้านล้านบาท (2 ล้านราย) ดอกเบี้ย 0% ระยะ 3 ปี (รัฐรับภาระดอกเบี้ยปกติ 6%) รวม 360,000 ล้านบาท หรือปีละ | 120,000 | 7 | สร้างมอเตอร์เวย์ 5 สาย ภูมิภาค ระยะทางไม่น้อยกว่า 800 กม. | 80,000 | 8 | ขยายทางรถไฟรางคู่-รถไฟความเร็วสูง- เชื่อมทุกภูมิภาค | 2,000,000 | 9 | สร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเล | 100,000 | 10 | เด็กทุกคนเกิดมามีเงินล้านเมื่ออายุ 20 ปี โดยรัฐจ่ายสมทบให้เท่าพ่อแม่คนละ 900 บาท ดอกเบี้ย 8% (เด็กเกิดปีละ 800,000 คน) | 8,640/ปี | 11 | ตรึงราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 35 บาท (ราคาปัจจุบัน 38 บาท) รัฐรับภาระ 3 บาท/ลิตร ถ้า 20 ล้านลิตรต่อวันก็ตก 60 ล้านบาท หรือ | 1,800/เดือน | 12 | ตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท ถ้าราคาขึ้น 1 บาทรัฐรับภาระให้ผู้ใช้น้ำมันวันละ 25 ล้านลิตรตก 25 ล้านบาท หรือ | 750/เดือน | | รวมวงเงิน | 3,279,190 |
พรรคภูมิใจไทย
| นโยบาย | ประมาณวงเงิน (ล้านบาท) | 1 | ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2% (ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% รัฐสูญรายได้ 75,000 ล้านบาทต่อปี) | 150,000 | 2 | จ่ายเงินสนับสนุน อปพร. อส. และ ชรบ. คนละ 600 บาทต่อเดือน | 14,951 | 3 | กองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง | ประเมินไม่ได้ | 4 | สร้างศูนย์ฝึกนักกีฬาอาชีพ | ไม่มีข้อมูล | 5 | กองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จังหวัดละ 100 ล้านบาทต่อปี | 7,600 | 6 | ประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท | 600,000 | 7 | สร้างที่ทำกิน 1 ล้านคน | ไม่มีตัวเลข | 8 | สร้างทางน้ำเข้าไร่นาเกษตรกร | 400,000 | 9 | โครงการปลูกยางพาราภาคเหนือ-ภาคอีสาน (โครงการต่อเนื่อง) | 3,974 | 10 | สร้างถนนปลอดฝุ่น (โครงการต่อเนื่อง) | 39,900 | | รวมวงเงิน | 1,216,425 |
พรรคชาติไทยพัฒนา
| นโยบาย | ประมาณวงเงิน (ล้านบาท) | 1 | ผ่อนบ้าน 1% นาน 10 ปี (เป้าหมาย 45,000 ครอบครัว) | 3,375 | 2 | ลดราคารถอีโคคาร์และรถปิคอัพคันละ 100,000 บาท | 55,000 | 3 | ลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน | 5,000,000 | 4 | พัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน | 1,700,000 | 5 | กองทุนสวัสดิการเกษตรกรและสถานีโทรทัศน์การเกษตร | ไม่มีตัวเลข | 6 | จ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาทแก่อาสาสมัครเกษตรกรประจำหมู่บ้านบ้านละ 1 คน | 946 | 7 | สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษส่งเสริมการท่องเที่ยว | 100,000 | 8 | เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นคนละ 1,000 บาทต่อเดือน | 78,000 | 9 | สร้างสนามกีฬาตำบลแห่งละ 12 ล้านบาท (จำนวนตำบลทั้งประเทศ 7,254 ตำบล) | 87,048 | 10 | จัดงบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มเติมให้ครบทุกคน | 10,800 | | รวมวงเงิน | 7,035,167 |
หลังประกาศนโยบายเหล่านี้ออกไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้แสดงความเห็นว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสัญญาที่พูดไปโดยไม่มีเงินงบประมาณรองรับ ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดกล่าวถึงนโยบายสำคัญหลักๆ ของประเทศ เช่น ทิศทางอนาคตของประเทศ นโยบายการศึกษา นโยบายต่างประเทศ นโยบายการคลัง นโยบายโลจิสติกส์ ที่เป็นพื้นฐานของประเทศเพื่อการพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) (Mr.Arkhom Termpittayaisith, Secretary-General, Office of the National Economic and Social Development Board) ให้ความเห็นว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ มีความใกล้เคียงกัน คือเน้นการทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นโดยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ แต่จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ต้องดูทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะงบประมาณ ตามแผนที่วางไว้ประเทศไทยจะข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2558 ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยจัดงบประมาณลงทุนประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 17-18% ของงบประมาณแผ่นดิน เฉพาะแค่ใช้ในโครงการต่อเนื่องก็แทบจะหมดแล้ว ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ส่วนนี้มีทั้งใช้งบประมาณจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจเอง จากเงินกู้และการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน นอกจากนี้ ในเรื่องอื่นๆ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มเงินเดือน ก็ต้องดูข้อจำกัดว่ามีกลไกที่จะทำได้จริงหรือไม่ เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นกับไตรภาคี ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะทำได้เอง และต้องดูกลไกตลาดด้วย เพราะถ้าปรับค่าแรงเพิ่มมาก ต้นทุนเอกชนก็จะสูง ในที่สุดก็ต้องขึ้นราคาสินค้า
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Prof. Dr. Praipol Koomsup, Faculty of Economic, Thammasat University) กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมให้สวัสดิการมากไปจนเกิดปัญหามีตัวอย่างแล้วในประเทศกรีซที่หนี้สาธารณะสูงถึง 158 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ สุดท้ายต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องลดการจ้างงานและสวัสดิการลง ขายรัฐวิสาหกิจ ประชาชนเดือดร้อนจนออกมาประท้วง
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) (Dr. Banlu Siriphanit, Foundation of Thai Gerontology Research and Development) กล่าวว่า พรรคการเมืองมีการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในสัดส่วนที่น้อย ทั้งนี้ นโยบายผู้สูงอายุควรครอบคลุมทั้งการพัฒนาอาชีพและกิจกรรมต่างๆ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคม และต้องมีนโยบายประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุด้วย
ในขณะที่ ศ.นพ.สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) (Prof. Dr. Sutthichai Jitapunkul, ) กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนถึงร้อยละ 15 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การนำเสนอนโยบายผู้สูงอายุของพรรคการเมืองควรชัดเจนและเป็นรูปธรรม เน้นใน 4 ประเด็น ดังนี้- ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- ส่งเสริมและพัฒนาหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องได้เท่าเทียม
- ส่งเสริมช่องทางและโอกาสในการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
- ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการดูแลผู้สูงอายุ
และโดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 โดยนำส่วนที่เพิ่มมาเป็นงบประมารในการดูแลสวัสดิการสังคม แยกร้อยละ 1 เพื่อดูแลผู้สูงอายุ และร้อยละ 2 ใช้ในการรักษาพยาบาลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ไฟเขียวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กทม. 5-9 บาท
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบกลางปีในเขต กทม. โดยมีตัวเลขระหว่าง 5-9 บาท โดยจะพิจารณาตัวเลขสุดท้ายในวันที่ 28 มิถุนายน และส่งให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เพื่อเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 6 กรกฎาคม 2554
ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 215 บาท โดยปรับมาจาก 205-206 บาทตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ซึ่งมีการปรับพร้อมกันทั่วประเทศ แต่จากการศึกษาพบว่าค่าจ้างที่ทำให้อยู่ได้ตามอัตภาพควรจะเป็น 222 บาท และหากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีควรจะมีค่าแรงขั้นต่ำ 235 บาท
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี และสำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนี้ พรรคการเมืองได้บรรจุไว้ในนโยบายหาเสียง โดยพรรคประชาธิปัตย์จะให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ส่วนพรรคเพื่อไทยจะให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ
ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี 4 เดือน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นชอบให้ขยายมาตรการรถไฟฟรีต่อไปอีก 4 เดือน หลังจากที่เดิมมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งหลังจากนั้นจะให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจอีกครั้ง
สำหรับรถเมล์ฟรี ที่ประชุมคณะกรรมการ ขสมก. มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการขึ้นรถเมล์ฟรีออกไปอีก 6 เดือน โดยเริ่มจากวันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป
ซึ่งทั้งสองโครงการจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554
ข้าราชการใส่ชุดไทยสัปดาห์ละ 1 วัน
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขอความร่วมมือข้าราชการ พนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ที่ใช้ผ้าไหมหรือผ้าไทยตัดเย็บและเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อน สัปดาห์ละ 1 วัน ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกระทั่งถึงช่วงเวลาจัดงาน และได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ไปดูรายละเอียดต่อไป
ลงทะเบียนคนไร้รากเหง้า
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ตามที่ สท. ได้สำรวจบุคคลไร้รากเหง้าทั้งที่อยู่ในและนอกสถานสงเคราะห์ หรือที่อยู่ในการดูแลขององค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งพระภิกษุ สามเณรในวัดและในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ใน 3 ลักษณะ คือ- ไม่ปรากฏบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้งแต่วัยเยาว์
- ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎรและไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และ
- เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548
ขณะนี้ สท. ได้เปิดรับลงทะเบียนเป็นการนำร่องในเขต กทม. แล้ว ปรากฏว่ามีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 300-400 คน เมื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆ แล้วจะออกหลักฐานและเลขประจำตัวให้ ต่อไปจะสามารถรับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในฐานะคนไทย เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานการศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น ต่อไปจะจัดระบบดูแลที่ง่ายต่อการตรวจสอบ โดยนายสมชาย ได้ยกตัวอย่างหญิงสูงอายุวัย 70 กว่าปี ที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลักเพราะไม่ได้แจ้งเกิดและปล่อยเรื่อยมา ทำให้ไม่สามารถรับสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีได้ หรือชายอายุ 40 กว่าที่ก็ไม่มีบัตรประชาชนเพราะไม่เคยแจ้งเกิด ทำให้ไม่สามารถทำงานประจำได้ทั้งๆ ที่มีความสามารถในทางช่างไม้
สำหรับการลงทะเบียนคนไร้รากเหง้านี้มีข้อยกเว้นสำหรับคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แต่จะไม่ได้รับสิทธิบางอย่างที่มีให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นต้น
สุราเป็นเหตุให้บ้านแตก
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากการศึกษาของ รศ. นพ. รณชัย คงสกนธ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ครอบครัวที่มีการดื่มสุราจะมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่มสุราถึง 4 เท่า และจากข้อมูลกรมการปกครอง ในปี 2550 มีการหย่าร้างรวม 100,420 ราย เพิ่มมากกว่าปี 2530 กว่า 3 เท่าตัว โดยมีสุราเป็นสาเหตุหลักของการหย่าร้าง ผ่านความรุนแรงในครอบครัว
เด็กไทยไร้ภูมิป้องกันสื่อ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบจัดความเหมาะสมของสื่อ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตร ไม่เคยเรียนรู้กระบวนการสื่อสารกับลูก ทำให้เด็กไทยเห็นว่าสื่อกลายเป็นเพื่อสนิทเพราะเด็กจะใช้เป็นที่พึ่งยามว้าเหว่ เห็นได้จากการเสพสื่อโทรทัศน์ช่วงละครหลังข่าว ที่เด็กเล็กที่อยู่ในวัยเรียนให้ความสนใจชมจำนวนมาก และเมื่อเกิดการนำเสนอฉากและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เด็กก็จะไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งละครออกจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก นอกจากนี้ จากการสำรวจเด็กและเยาวชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ เรื่องต้นทุนชีวิตของเด็กไทย ในปี 2553 ที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าตกใจ 4 เรื่อง คือ น้ำใจของเด็กไทยลดลง ค่านิยมทำความดีก็ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 34 ซึ่งในจำนวนนี้คิดว่าหากจะทำความดีต้องหลบๆ ซ่อนๆ และยังพบว่าเด็กไทยมีความรู้เท่าทันสื่อไม่ถึงร้อยละ 50 ขาดภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อดี และสุดท้ายคือ ขาดการใส่ใจภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น
สำหรับปัญหาเด็กไทยไร้ภูมิป้องกันสื่อนี้ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ. จะเร่งสร้างความเข้าใจรับรู้เรตติ้งสื่อทุกประเภท และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน โดยไม่เน้นมาตรการทางกฎหมาย แต่ให้ความสำคัญกับมาตรการทางสังคมและความรับผิดชอบร่วมกัน
จบ ป.ตรี ว่างงานมากที่สุด
สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานภาวการณ์ว่างงานล่าสุดในเดือนเมษายน 2554 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 285,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 0.8 แยกเป็นว่างงานจากภาคบริการและการค้า 88,000 คน ภาคการผลิต 69,000 คน และภาคเกษตรกรรม 42,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนที่เคยทำงานมาก่อน 199,000 คน และไม่เคยทำงานมาก่อน 86,000 คน ผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุดถึง 79,000 คน รองลงมาเป็นมัธยมศึกษาตอนต้น 66,000 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 52,000 คน ประถมศึกษา 49,000 คน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 39,000 คน
ทั่วประเทศมีผู้มีงานทำ 37.37 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 12.66 ล้านคน นอกภาคเกษตร 24.71 ล้านคน
เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เรียนจบอาชีวศึกษามีการว่างงานน้อยที่สุดหรือแทบจะไม่มีเลย ในการเสวนาเรื่อง “ทิศทางพัฒนาเด็กพันธุ์อาร์ รองรับตลาดอาเซียน 58” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)+9 กล่าวว่า ในแต่ละปีมีนักศึกษาจบปริญญาตรี 400,000 คน ได้งานทำเพียง 100,000 คน ในขณะที่ผู้จบอาชีวศึกษาได้งานทำถึงร้อยละ 90-100 ประเทศไทยจึงต้องผลักดันให้อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาสายหลักแทนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 การเปิดเสรีด้านแรงงาน อาจส่งผลให้แรงงานอาเซียนทะลักเข้ามา เพราะหลายประเทศส่งบุคลากรมาเรียนรู้ภาษาไทยและเรียนอาชีวศึกษาในไทย ในขณะที่หากแรงงานของเราจะต้องเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพในประเทศอื่น เราก็ยังไม่มีพัฒนาการในภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านดีพอ
From : http://www.fpps.or.th
|
|