|

ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย
วันที่ 5 เมษายน 2554 สถาบันนโยบายศึกษา ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ที่หอประชุมตันติสุนทร วิทยาลัยชุมชนตาก จังหวัดตาก โดยมีวิทยากร 3 ท่าน คือ คุณอุดร ตันติสุนทร ดร.ชาติ แจ่มนุช และคุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงาน 69 คน
คุณอุดร ตันติสุนทร อดีต ส.ว. จากการเลือกตั้งจังหวัดตาก ได้กล่าวถึงความสำคัญของคำว่า “พลเมือง” ซึ่งมีความแตกต่างจากคำว่า “ประชาชน” เพราะความเป็นพลเมืองนั้นหมายถึงคนที่มีความสามารถที่จะแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวม พลเมืองจึงต้องเป็นผู้มีความรู้และเข้าไปช่วยตัดสินใจในปัญหาสำคัญๆ ของสังคม ของชุมชน ของประเทศ หมายถึงเข้าไปอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ต่างจากคำว่า ประชาชน ที่กลายเป็นผู้รับคำสั่ง ทำตามผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจึงอยู่ที่การเปลี่ยนให้ประชาชนคนธรรมดาได้กลายเป็นพลเมืองที่มีสิทธิกำหนดทิศทางของประเทศได้

คุณอุดร ตันติสุนทร | คุณอุดร ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศเยอรมัน และบทบาทของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดพลเมืองภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้พลเมืองของเยอรมันไม่หลงตามผู้นำเหมือนเมื่อเกิดขึ้นในอดีต แต่กลับเป็นชาวเยอรมันที่แสดงความรับผิดชอบร่วมกันสร้างชาติใหม่จากการสร้างการศึกษาใหม่ที่เรียกว่า การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่หัวใจสำคัญอยู่ที่ให้พลเมืองมีเสรีภาพและตระหนักในความรับผิดชอบต่อเรื่องสาธารณะ เราจึงควรศึกษาวิธีการของประเทศเยอรมันที่พัฒนาคนของเขาให้เป็นพลเมืองที่แข็งแกร่ง |

ดร.ชาติ แจ่มนุช | ดร.ชาติ แจ่มนุช จากพื้นที่การศึกษาเขต 1 กรุงเทพมหานคร ได้นำกระบวนการ “คิด” มาใช้กับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งต่างมีบทบาท สถานะทางสังคมหลากหลายอาชีพ อาทิ นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนตาก ครู-อาจารย์ จากวิทยาลัยชุมชนตาก, จากโรงเรียนตากกวงวิทยา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาล ผู้อำนวยการการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก และนักธุรกิจในท้องถิ่น เป็นต้น |
ดร.ชาติ ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมให้มีความหลากหลายสถานภาพและบทบาททางสังคม เพื่อค้นหาบทบาทความเป็นพลเมืองว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมได้ช่วยกันคิดและได้ข้อสรุปดังนี้ คือ- มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะหัวใจสำคัญของพลเมืองคือสามารถที่จะคิดเป็นโดยไม่ถูกครอบงำ
- มีความรู้และความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
- ยอมรับในความแตกต่างทั้งความคิด ภาษา วัฒนธรรม
- เคารพในความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ใช้เสรีภาพบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- มีความสามารถที่จะร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเมืองทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ

คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร | คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา ได้ใช้กระบวนการสานเสวนา ที่เรียกว่า World Café เพื่อทำให้ทุกคนได้แสดงบทบาทของพลเมืองได้อย่างเต็มที่ ในหัวข้อ “บทบาทพลเมืองกับทางออกประเทศไทย” การเสวนานี้อาจเรียกว่าสุนทรียเสวนาก็ได้ เพราะลักษณะการจัดห้องได้สร้างบรรยากาศเหมือนอยู่ในร้านกาแฟที่มีความสวยงาม ผู้เข้าร่วมนั่งอยู่ตามโต๊ะโดยคละกันจากสาขาอาชีพการงานต่างๆ ทั้ง 8 โต๊ะๆ ละ 6 คน แต่ละโต๊ะมีแจกันดอกไม้สีสวย มีกระดาษขนาดใหญ่วางไว้บนโต๊ะ 2 แผ่น มีปากกาหลากสี มีสัญลักษณ์ของการพูด (talking stick) โดยมีกติกาว่า หากใครมีสิทธิพูดต้องถือ talking stick ส่วนคนอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ฟัง และคิดตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟังแต่ละคนต่างทำหน้าที่ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ทุกคนแสดงออกซึ่งการคิด พูด จากใจ ใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้ง อีกทั้งไม่พูดแทรก ต้องรู้จักอดทน และตั้งใจฟังจนกว่าผู้พูดจะพูดเสร็จ แต่ละโต๊ะต้องมีประธานโต๊ะทำหน้าที่จดบันทึกและอำนวยการเสวนาให้ราบรื่น |
ซึ่งการจัดเช่นนี้จะเวียนสลับโต๊ะทุก 30 นาที โดยสมาชิกในแต่ละโต๊ะจะต้องออกจากโต๊ะแรกไปเป็นสมาชิกโต๊ะอื่นๆ คละกันไป ทำเช่นนี้ 3 รอบ เพื่อเติมเต็มความคิดเห็นในแต่ละรอบจากหลากหลายความคิด โดยประธานประจำโต๊ะยังอยู่ที่เดิมเพื่อสรุปให้สมาชิกใหม่ได้รับข้อมูลแต่ละรอบ เพื่อสานต่อการเสวนาให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาชิกที่เข้ามาใหม่ กระทั่งได้ข้อสรุปสุดท้ายจากรอบที่ 3 ประธานกลุ่มแต่ละโต๊ะก็จะออกมารายงาน ซึ่งการจัดเสวนาแบบ world café ครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกันจากทุกกลุ่มดังนี้ คือ- ทางออกของประเทศต้องแก้ด้วยการศึกษา โดยมีเป้าหมายที่เปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย โดยการศึกษาต้องให้เสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคลในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และไม่ถูกบังคับให้จำและทำตามครูไปทุกเรื่องอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อฝึกฝนทักษะการคิด และการแก้ปัญหาร่วมกัน
- ส่งเสริมการใช้เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ ต้องฝึกคนในสังคมให้แสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนเหนือส่วนรวม
- ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ผูกขาดความคิด และฟังผู้อื่นให้มากขึ้น รู้จักหันหน้าเข้าหากัน ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกชนิด
- พลเมืองต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อแสดงจุดยืนและรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม
- ต้องรู้จริง มีข้อเท็จจริงครบถ้วน และรู้จักใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา
พลเมืองต้องแสดงบทบาททั้ง 5 ประการนี้ เพื่อเป็นทางออกของประเทศไปสู่ความสงบและสันติสุข อันเป็นสำนึกของพลเมืองทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศให้ลุล่วง ไม่ให้ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่โดยลำพัง

ภายในห้องประชุม | 
ผู้เข้าร่วมจากวิทยาลัยชุมชน ถ่ายภาพกับคณะวิทยากร |
นอกจากผลที่ได้รับจากการประชุมดังข้อสรุปข้างต้นแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดครั้งนี้อีกว่า ต้องการให้มีการขยายเทคนิค-วิธีการจากกิจกรรมนี้ไปสู่ครูและสถานศึกษาทุกระดับ ต้องการให้ขยายเวลาเพิ่ม และอยากให้จัดการประชุมลักษณะนี้อีกให้มากกว่านี้เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในสำนึกและบทบาทพลเมืองในสังคมไทยให้ตรงกัน
From : http://www.fpps.or.th
|
|