บทความ (Thai)
ข้ามฟ้าไปสนทนา เรื่อง ประชาสังคมกับสังคมการเมือง (ตอนที่ 2)

ยศวดี บุณยเกียรติ

ดิฉันมีความรู้งูๆ ปลาๆ เรื่องสหภาพยุโรปก็ตอนที่ไปทำวีซ่าเข้าประเทศในยุโรป แต่ก่อนที่จะมีสหภาพยุโรปนั้น หากจะไปมากกว่าหนึ่งประเทศ ก็ต้องทำวีซ่าเข้าทุกๆ ประเทศ ถ้าไปหลายประเทศกว่าจะยื่นครบก็เสียเวลาไม่น้อย แต่เมื่อกลุ่มประเทศในยุโรปรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป จะไปกี่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สามารถทำวีซ่าเข้าครั้งเดียว เรียกกันว่า วีซ่าเซงเกน (Schengen Visa) เจ้าหน้าที่จะประทับตราเมื่อเข้าประเทศแรก จากนั้นเดินทางไปได้ทุกประเทศในกลุ่มสมาชิก จนถึงเวลาจะออกก็ประทับตราที่ประเทศสุดท้ายเป็นอันเสร็จพิธี

เมื่อจะได้ข้ามฟ้าไปสนทนากับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป จึงต้องหาความรู้มาใส่ตัว ทำความเข้าใจไปล่วงหน้า จึงหูตาสว่างขึ้นอีกมากมาย จึงถือโอกาสแบ่งปันส่วนหนึ่งมาให้ทุกท่าน ณ โอกาสนี้

ยุโรป – เปลี่ยนการรบเป็นการค้า

ดินแดนที่เรียกกันว่า “ยุโรป” มีผู้คนหลายเชื้อชาติและภาษาตั้งบ้านเรือนอยู่นานกว่าสองพันปีมาแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่มีการรบทำสงครามแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติกันเกือบจะตลอดเวลา ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่อาณาจักรโรมัน เรื่อยลงมาถึงอาณาจักรฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียน และท้ายที่สุดคืออาณาจักรเยอรมันยุคนาซี ผู้คนในทวีปยุโรปต้องประสบความยากลำเค็ญอันเกิดจากการทำสงครามที่ชาวบ้านธรรมดาไม่ได้เป็นผู้ก่อแต่ต้องรับกรรมแสนสาหัส บาดเจ็บล้มตายเพราะทั้งภัยสงครามและความอดอยาก สงครามใหญ่ทั้งสองครั้งเริ่มต้นในทวีปยุโรปและลุกลามไปทั่วโลก กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918 หรือ พ.ศ. 2457 - 2461) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945 หรือ พ.ศ. 2482- 2488)

มีตัวเลขว่ามีคนตายไประหว่าง 50-70 ล้านคนในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณ 40-52 ล้านคน เป็นพลเรือน สาเหตุการตายมีตั้งแต่เสียชีวิตจากการสู้รบ ทิ้งระเบิด เจ็บป่วยและขาดอาหาร อีก 22-25 ล้านคน เป็นทหารจากทั้งสองฝ่าย


คอนราด อาเดนาวร์
ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นี้ทำให้แนวคิดเรื่องการไม่ทำสงครามและการส่งเสริมประชาธิปไตยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองได้รับการสนับสนุนและสานต่อหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองจบลงโดยผู้นำ 7 คนจาก 6 ประเทศในยุโรป คือ เยอรมันนี (คอนราด อาเดนาวร์ – Konrad Adenauer) ลักเซมเบอร์ก (โจเซฟ เบค – Joseph Bech) เนเธอร์แลนด์ (โยฮัน วิลเฮม เบเยน – Johan Willem Beyen) อิตาลี (อัลไซด์ เดอ แกสเพอรี – Alcide De Gasperi) ฝรั่งเศส (โรเบิร์ต ชูมาน – Robert Schuman และ จัง โมเนต์ – Jean Monet) และเบลเยี่ยม (พอล อองรี สปาค – Paul Henri Spaak) รัฐบุรุษทั้ง 7 ท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพยุโรป

โรเบิร์ต ชูมาน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) รัฐบุรุษทั้งเจ็ดท่านก็เริ่มการสนทนาที่นำไปสู่การร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของถ่านหินและเหล็กซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะฟื้นฟูประเทศ จากประเทศสมาชิกแรกเริ่ม 6 ประเทศ โดยใช้ชื่อว่า ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community – EEC) ต่อมาได้ขยายเนื่องจากมีสมาชิกใหม่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) จึงใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหภาพยุโรป (European Union – EU)

จากปี 1993 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นยุคใหม่ของสหภาพยุโรปที่มีพัฒนาการมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คือเริ่มต้นจากการรวมตัวกันในเรื่องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบตลาดเดียว (Single European Market) ที่ยกเลิกพรมแดนในเรื่องของสินค้าและบริการ สินค้าจากประเทศสมาชิกสามารถจะขายได้ในทุกๆ ประเทศสมาชิกโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ต่อมาในปี 1995 จึงมีข้อตกลงเรื่องพรมแดนที่เรียกว่า Schengen Agreement คือให้ถือว่าทุกประเทศสมาชิกเป็นหนึ่งเดียวไร้พรมแดน อันเป็นที่มาของการออกวีซ่าเซงเกนที่เข้าออกได้ทุกๆ ประเทศสมาชิก ในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ทุกๆ ประเทศสมาชิกก็ยกเลิกเงินในสกุลของตนเองและพร้อมใจกันใช้เงินสกุลยูโร (euro) เหมือนกันหมด และท้ายที่สุดในเรื่องการเงินก็ได้ตั้งธนาคารกลางแห่งยุโรปขึ้นมาดูแลจัดการ

ยุโรปวันนี้จึงไม่ใช่ดินแดนที่มีการรบการทำสงครามแย่งชิงดินแดนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรอีกต่อไป แต่ 27 ประเทศและรัฐในยุโรปได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งสถาบันที่จะก้าวไปด้วยกันในทุกๆ ด้าน

สหภาพยุโรป – โครงสร้างการปกครองที่เหนืออำนาจรัฐ

สหภาพยุโรปใช้เวลาถึง 48 ปีในการบ่มเพาะจากการรวมตัวในรูปแบบของ “ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” โครงสร้างของสหภาพยุโรปวันนี้แตกต่างไปจากรูปแบบใดๆ มีโครงสร้างการปกครองที่เหนืออำนาจรัฐ เรียกว่า “เหนือชาติ” (supranational trait) ประกอบด้วย 3 สถาบันหลักที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมแห่งการตัดสินใจ” (The decision-making triangle) ร่วมกำหนดนโยบาย รับผิดชอบดูแลประชากร 500 ล้านคนของ 27 ประเทศสมาชิก

สถาบันหลักทั้งสามของสหภาพยุโรป คือ คณะมนตรียุโรป (The Council of the European Union) สภายุโรป (The European Parliament) และ คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission)

ธงของสหภาพยุโรป

คณะมนตรียุโรป มีจำนวน 27 คน จากประเทศสมาชิก 27 ประเทศๆ ละ 1 คน ถือเป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น นโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง เกษตรกรรม คมนาคม เศรษฐกิจการเงิน การค้า อุตสาหกรรม พลังงาน ตลอดจนถึงประเด็นสังคม คณะมนตรียุโรปจึงมีอำนาจในทางนิติบัญญัติ และกำหนดงบประมาณ โดยใช้อำนาจนี้ร่วมกับสภายุโรป และยังเป็นสถาบันที่ตัดสินใจในเรื่องข้อตกลงต่างๆ ที่คณะกรรมาธิการยุโรปทำกับต่างประเทศ

ในแต่ละปีคณะมนตรียุโรปจะประชุมใหญ่ร่วมกัน 4 ครั้ง เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกจะผลัดกันดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีเป็นเวลา 6 เดือน และทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมด้วย ส่วนประเทศสมาชิกอื่นๆ จะส่งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะพิจารณามาร่วมประชุม แต่ละประเทศสมาชิกมีเสียงโหวตไม่เท่ากัน เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสหราชอาณาจักรอังกฤษ มีเสียงโหวตมากที่สุดประเทศละ 29 เสียง และประเทศมอลต้ามีเสียงโหวตน้อยที่สุด 3 เสียง แต่เมื่อรวมกันทั้ง 27 ประเทศแล้วจะมีเสียงโหวต 345 เสียง เกณฑ์การตัดสินในเรื่องต่างๆ ขึ้นกับประเด็น เช่น ในประเด็นสำคัญยิ่งยวดอาจต้องใช้มติเอกฉันท์ แต่โดยปกติแล้วจะใช้เสียงส่วนใหญ่ หรือบางทีก็สองในสาม

สภายุโรป มีอำนาจหน้าที่ในการร่วมตัดสินใจกับคณะมนตรีในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การพิจารณาร่างกฎหมายที่ริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการ การอนุมัติงบประมาณ ให้การรับรองความตกลงระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปกับประเทศนอกกลุ่ม และที่สำคัญคือ ให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยุโรป

สภายุโรปประกอบด้วยสมาชิก 736 คน ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทุกๆ 5 ปี โดยประชาชนใน 27 ประเทศสมาชิก แต่ละประเทศสมาชิกจะมีโควตาสมาชิกสภาที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากร เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วสมาชิกสภายุโรปจะไม่จับกลุ่มกันตามสัญชาติ แต่จะแบ่งโดยทิศทางของพรรคการเมือง ซึ่งก็ขึ้นกับแนวนโยบาย กลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือพรรคประชาชนยุโรป (European’s People Party) และพรรคประชาธิปไตยยุโรป (European Democrat) ที่ตามมาคือกลุ่มสังคมนิยม เสรีนิยม และอนุรักษ์ธรรมชาตินิยม (Greens)

คณะกรรมาธิการยุโรป มีจำนวนทั้งหมด 27 คน โดยมาจาก 27 ประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน กรรมาธิการแต่ละคนจะรับผิดชอบแต่ละด้านคล้ายกับรัฐมนตรี มีอายุการทำงาน 5 ปี ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการของสหภาพยุโรปอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิก กรรมาธิการแต่ละคณะมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายที่ตนรับผิดชอบ เช่น นโยบายการเกษตร และยังมีอำนาจจัดการในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องวิจัยและเทคโนโลยี การช่วยเหลือต่างประเทศ การพัฒนาในระดับภูมิภาค ฯลฯ โดยต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาและคณะมนตรียุโรป

คณะกรรมาธิการยุโรปมีหน่วยงานที่เป็นแขนขา 46 องค์กร แต่ละองค์กรมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการใหญ่ 1 คน และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ที่คล้ายกับข้าราชการพลเรือน หน่วยงานทั้ง 46 นี้ ตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยี่ยมและนครรัฐลักเซมเบิร์ก

นอกจากสถาบันหลักทั้งสามนี้แล้ว สหภาพยุโรปยังมีสถาบันและองค์กรที่สำคัญอีก 6 องค์กร คือ

ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) มีหน้าที่บังคับใช้ ตีความกฎหมายและพิจารณาชี้ขาดว่ากฎหมายของสหภาพยุโรปได้รับการปรับใช้เหมือนกันในทุกประเทศสมาชิกหรือไม่ พลเมืองของสหภาพยุโรปสามารถยื่นฟ้องต่อศาลนี้ได้หากสถาบันใดๆ ของสหภาพยุโรปทำผิดกฎหมาย

ศาลผู้ตรวจสอบบัญชี (The Court of Auditors) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้สภายุโรปในเรื่องการเงินและการใช้จ่ายตามงบประมาณ

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมยุโรป (The European Economic and Social Committee) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม

คณะกรรมการระดับภาค (The Committee of the Region) เป็นตัวแทนจากภูมิภาคและท้องถิ่น ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิภาคนั้นๆ

ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (The European Investment Bank) ให้กู้ยืมเงิน รับประกันการกู้ยืมเงินและให้คำปรึกษาแก่ภูมิภาคที่กำลังพัฒนา

ธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank) ทำหน้าที่บริหารจัดการและกำหนดนโยบายเงินสกุลยุโรป คือ ยูโร

ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิก 27 ประเทศ ได้แก่ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร สเปน โปแลนด์ โรมาเนีย เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเชค กรีซ ฮังการี โปรตุเกส ออสเตรีย บัลเกเรีย สวีเดน เดนมาร์ค ไอร์แลนด์ ลิธัวเนีย สโลวาเกีย ฟินแลนด์ เอสโทเนีย ไซปรัส ลัทเวีย ลักเซมเบิร์ก สโลวีเนีย และมัลต้า มีประชากรรวมกัน 499,021,851 คน (พ.ศ. 2551)

ประชาคมอาเซียน กับ สหภาพยุโรป

ในวันแรกที่บรัสเซลส์ คุณแอนเดรีย เดอ โซซา ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวน์ ประจำสหภาพยุโรปได้ให้ข้อมูลย่อแก่ผู้เข้าร่วมทั้ง 6 คน รวมทั้งตัวดิฉันด้วยพร้อมกับย้ำว่า สหภาพยุโรปมีเงินช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ที่มิใช่สมาชิกในลักษณะที่เป็นโครงการ แต่จะต้องขอมาเป็นเรื่องๆ ไป จากนั้น ในวันที่สองเราก็เริ่มรายการเยี่ยมสนทนากับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป คือ คุณบูกัสลอว์ มาจิวสกี (Buguslaw Majewski) หัวหน้าฝ่ายเอเชียและประเทศในมหาสมุทร และคุณซีมุส กิลเลสพี (Seamus Gillespie) หัวหน้าหน่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแต่ละครั้งเจ้าภาพก็ได้เล่าให้ฟังถึงหน้าที่รับผิดชอบของตนเล็กน้อยและเปิดประเด็นให้ทุกคนพูดถึงเล่าเรื่องประเทศของตน โดยเริ่มจากเรื่อง “ร้อน” เพราะถือว่าเป็นข่าวที่ทุกๆ คนสามารถจะติดตามมาแล้ว ก่อนจะลงลึกลงไปในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น ข่าน อาเหม็ด โกรายา จากปากีสถานก็ถูกถามเป็นคนแรกเรื่องปัญหาปากีสถาน-อัฟกานิสถาน เพราะถือว่าเป็นประเด็นสำคัญของสหภาพยุโรปเนื่องจากได้ส่งกองทหารเข้าไปร่วมรักษาสันติภาพในอัฟกานิสถาน คุณข่านเธอมีทั้งอาวุโสและประสบการณ์เป็นถึงผู้อำนวยการสถาบันบริการรัฐสภา เธอก็เลยสนทนาเรื่องต่างๆ ฉิว แถมยังคุยให้ฟังเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานที่เพิ่งจะเกิดหมาดๆ ไปที่ไหนคุณข่านเธอก็รับหน้าที่เป็นพระเอกเปิดเวทีสนทนากับเจ้าภาพไปโดยปริยาย

อีกคนที่จัดอยู่ในประเภทดารา “สนทนา” คือ คุณคาลิด จาร์ฟา จากมาเลเซีย โดยความเป็นมาเลย์นั้น คุณคาลิดเธอก็พูดอังกฤษคล่องอยู่แล้ว ประกอบด้วยเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์เก่า เธอก็เลยสนทนาได้ทุกเรื่อง แต่ที่คาลิดสนใจและต้องกลับมาทุกครั้ง คือเรื่องประชาคมอาเซียนกับสหภาพยุโรป ที่เธอเปรียบเทียบความเหมือนและความต่าง และยังวิเคราะห์วิจารณ์ไปถึงความเป็นไปได้ที่ประชาคมอาเซียนจะพัฒนาไปเป็นเหมือนสหภาพยุโรป ในวันท้ายๆ หลังจากที่ฟังเรื่องสหภาพยุโรปมาหลายรอบแล้ว ดิฉันก็เลยแกล้งขัดคอเธอว่า ถ้าประชาคมอาเซียนจะเลียนแบบสหภาพยุโรปแบบถอดแบบกันมานั้น ดิฉันคนหนึ่งล่ะที่ไม่เห็นด้วยและจะออกมาคัดค้านหากได้มีการลงประชามติ

สำหรับมาดามวู ธิ วิน จากเวียดนาม และ ดร.ฮามิด ดูลา นูร์ อิบัด จากอัฟกานิสถานนั้น ทั้งคู่พูดน้อยเพราะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ (มาดามวู เคยไปเรียนที่โซเวียตคงจะคล่องภาษารัสเซียมากกว่าอังกฤษ ส่วน ดร.ฮามิด เรียนและทำงานในเยอรมันถึง 25 ปี จึงพูดเยอรมันคล่องกว่าอังกฤษ) ทั้งคู่ก็ช่วยกัน “สนทนา” พอเป็นพิธี ส่วนอาจารย์วุฒิสาร และดิฉันนั้น พูดน้อยแต่พูดเรื่องเนื้อๆ ตามแบบคนไทย

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปจะถามพวกเราว่าประชาสังคมในแต่ละประเทศของเรานั้นมีความเข้มแข็งและศักยภาพมากน้อยเพียงใด ในความเป็นจริงนั้น สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ (ในการช่วยเหลือทางการเงิน) แก่ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก ไม่เท่ากัน และในประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับปากีสถาน (และรวมถึงอัฟกานิสถาน) นั้น ด้านพลังงานและความสามารถในการช่วยเหลือตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เมื่อถึงมาเลเซียซึ่งถือว่าเป็นประเทศมุสลิมที่มีการพัฒนาก้าวหน้าและที่มีการติดต่อทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปมากนั้น ความสำคัญอยู่ที่ภาคประชาสังคมที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม พอมาถึงประเทศไทย คำถามจะพุ่งไปที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งดิฉันก็ให้ความเห็นไปว่า ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมา 4-5 ปีมานี้ มีทั้งข้อดีและเสีย ในด้านเสีย คือ สังคมแตกแยกและอาจจะทำให้เศรษฐกิจของเราชะงักงันไปบ้างในบางขณะ แต่อย่างไรก็ตาม สังคมไทยก็ยังถือว่ามีความแตกต่างทางเชื้อชาติวัฒนธรรมน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย (ยกเว้นใน 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นที่สนใจของสหภาพยุโรป) ในเรื่องของเศรษฐกิจนั้น ภาคธุรกิจของไทยเข้มแข็งมาก แต่ในความเข้มแข็งนี้ก็มีข้อเสียคือทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจของคนไทยกว้างขึ้นทุกที ถ้าเราจะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดทำให้คนไทยทุกระดับสังคมมีความตื่นตัวทางการเมืองมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อดีและเป็นโอกาสที่ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้และมีบทบาททางการเมือง


อาคารรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

ภายในห้องประชุมใหญ่

ก่อนจะจากกรุงบรัสเซลส์ พวกเราได้ไปเยี่ยมชมอาคารรัฐสภายุโรป เขาจัดให้เราเข้าไปนั่งในมุมหนึ่งของห้องประชุมใหญ่และมีเจ้าหน้าที่หนุ่มน้อยชาวบัลกาเรียมาสรุปย่อเรื่องสหภาพยุโรปให้ฟัง เธอได้พูดในภาษาง่ายๆ ที่เข้าใจง่าย และยังตอบทุกๆ คำถามได้คล่อง มีการวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่น่าฟังทั้งๆ ที่บอกว่าเพิ่งทำงานมาได้แค่สองปีเอง ดิฉันและอาจารย์วุฒิสารเห็นเหมือนกันว่าอยากให้เด็กไทยของเราเป็นแบบนี้

หนุ่มบัลกาเรียแสดงความเห็นว่า ภาระหนักของรัฐสภายุโรปคือเรื่องการเงิน เพราะเหตุที่ไม่มีภาษากลางหรือภาษาใช้งานเช่นในองค์กรสหประชาชาติ จึงต้องมีการแปลเอกสารและการประชุมออกมาเป็นทุกภาษาที่มีใช้ในประเทศสมาชิก พอจะมองเห็นภาพว่าทรัพยากรที่ใช้ไปกับงานนี้จะมากมายมหาศาลเพียงไร นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ดิฉันยกมาค้านคุณคาลิดเธอว่า ไม่เห็นด้วยนะถ้าประชาคมอาเซียนจะเลียนแบบสหภาพยุโรปไปหมดในทุกๆ เรื่อง

ขอจบเรื่องการสนทนากับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปไว้ที่ข้อสรุปว่า สหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่เราไม่อาจจะปิดหูปิดตาไม่สนใจได้ แต่การรับข้อมูลข่าวสารนั้นก็ต้องวิเคราะห์ต่อว่าอะไรคือข้อดีและอะไรคือข้อด้อยขององค์กร ในการเดินทางครั้งนี้ ดิฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากมายที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรป ได้คิดวิเคราะห์ สนทนาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับบุคคลจากทั้งหน่วยงานในสหภาพยุโรปและประเทศที่สาม ได้เรียนรู้ว่าการแสดงความเห็นนั้นไม่มีอะไรผิดหมดหรือถูกหมด ในสังคมไทยแต่เดิมนั้นเราให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความเห็นน้อยมาก โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่จะพูดฝ่ายเดียวและผู้น้อยต้องปฏิบัติตาม เรื่องนี้ตรงข้ามกับสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่าเทียมกัน หากเราจะพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น เราต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกภาคส่วนในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเราจะได้รับฟังกัน เข้าใจกัน และเดินไปด้วยกันได้ในความแตกต่างที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน

ครั้งต่อไป จะสนทนาเรื่องภาคประชาสังคมในบรัสเซลส์ที่มีบทบาทในการสั่นสะเทือนนโยบายที่มีผลกระทบต่อประชาชนของสหภาพยุโรป และกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำระหว่างสี่วันสามคืนในบรัสเซลส์
(อ่านต่อฉบับหน้า)


From : http://www.fpps.or.th