จากสถาบันนโยบายศึกษา
วัฒนธรรมการเจรจา

วันที่ 27 มีนาคม 2553 ประวัติศาสตร์ไทยหน้าใหม่ได้จารึกการพยายามสานเสวนาระหว่างแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย (นปช.) กับฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำ มาพูดคุย ทำให้เกิดมิติใหม่ในการ “เจรจา” ความขัดแย้งทางการเมือง

แม้ว่า แกนนำ นปช. จะไม่ได้มีสถานภาพทางสังคมที่จะเป็น “คู่เจรจา” กับคนระดับผู้นำสูงสุดของประเทศ แต่ภาพของการ “เจรจา” ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น ทำให้คนทั้งประเทศที่ได้ชมจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้ประจักษ์ว่า ผู้นำประเทศให้ความสำคัญและใส่ใจที่จะพูดคุย เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ปมปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ดี การ “เจรจา” ที่ผ่านไปแล้วถึง 2 ครั้งนั้น ยังไม่อาจเปิดประตูใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะเหตุที่การมานั่งพบปะกันนั้น เป็นเพียงการมาพูดในสิ่งที่ต้องการพูด แต่ไม่ได้เอาใจมาฟังเพื่อให้ได้ยินเสียงที่แท้จริงของเหตุและผล โดยมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวมอย่างปราศจากข้อสงสัย

นอกจากนี้ การเจรจาที่ประสบความสำเร็จควรใส่ใจในกฎ กติกา มารยาท อันถือเป็นวัฒนธรรมที่พึงมีเพื่อสร้างความงอกงาม และความก้าวหน้าในการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายที่แม้มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็พร้อมและยินดีที่จะมานั่งพูดให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง ขณะเดียวกันก็ยินดีและพร้อมที่จะฟังอีกฝ่ายหนึ่งอย่างตั้งใจและมีความอดทนที่จะใช้เวลาในการบอกความหมายและความในใจอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้อยู่ในกรอบของการเจรจา ไม่ออกนอกเรื่อง หรือฟื้นฝอยย้อนอดีตที่ไม่ก่อประโยชน์ในการพูดคุย รังแต่จะสร้างบรรยากาศการโต้เถียง แก้ต่างในเรื่องที่ผ่านไปแล้วซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ดังนี้การเจรจาจึงควรมีข้อตกลงง่ายๆ และควรเป็นลักษณะการสานเสวนามากกว่าจะเป็นการกดดันให้อีกฝ่ายทำอย่างที่ต้องการ ทั้งนี้ ก่อนการพูดคุยต้องกำหนดกติกา มารยาท พูดง่ายๆ ว่าควรมีวัฒนธรรมในการเจรจาให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันและให้ถือปฏิบัติระหว่างการเจรจา ดังนี้
  1. รับฟังอย่างมีมารยาทและเคารพผู้อื่น พึงสำนึกเสมอว่าทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
  2. พูดออกมาจากใจให้มีความหมาย ไม่มีประเด็นซ่อนเร้น
  3. ร่วมสนทนาด้วยความจริงใจ และตั้งใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ แบบเรื่อยเปื่อย ไม่เข้าประเด็นที่ชวนเจรจา
  4. การพูดคุยต้องอยู่ในความพยายามที่จะเข้าใจในเหตุและผล ไม่ใช่พยายามที่จะ โน้มน้าวในสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์ร่วมกัน
  5. ต้องหลีกเลี่ยงที่จะตัดสินสิ่งต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  6. ทุกฝ่ายต้องสนับสนุน และให้เกียรติกับความแตกต่างทางความคิด ด้วยท่าทีที่เคารพ ไม่โต้แย้ง หักหาญ หรือกดดันอีกฝ่าย
การเจรจาทั้ง 2 ครั้ง แม้จะยังไม่มีความก้าวหน้าในสาระสำคัญ แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ควรสานต่อ และหากอยากเห็นความสำเร็จก้าวหน้าไปกว่านี้ จะต้องเปิดใจให้ฝ่ายอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย เพราะเรื่องที่เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายอ้างในความขัดแย้งทั้งหลายล้วนเกี่ยวข้องกับเจ้าของประเทศทุกๆ คน


ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

ผู้อำนวยการร่วม สถาบันนโยบายศึกษา


From : http://www.fpps.or.th