|

ค่ามาตรฐานภาวะมลพิษ : ใช้คุณภาพชีวิตเป็นตัวชี้วัด
ถึง “ระยอง” เห็นโรงกลั่นควันโขมง มันผูกโยงชีวิตคนบนปลายเสา
บนความเป็นความตายต้องเลือกเอา ประชาชนต้องมา(ตาย) ก่อนอุตสาหกรรม |
|  นายธนาวัชณ์ แก้วพงศ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระ |
ย้อนอดีตเมื่อปี 2513 การปริโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้สำรวจพบก๊าซธรรมชาติในบริเวณอ่าวไทย อาทิ เอทิลีน โพรพิลีน ซึ่งผสมอยู่ในก๊าซธรรมชาติ อันเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลพวงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเกิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกระยะที่ 1 (โครงการอีสเทรินซีบอร์ด ระหว่างปี 2523-2532) (Eastern Seaboard Development) หากใครจำได้ ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ มีการโฆษณาถึงการพบก๊าซธรรมชาติบนอ่าวไทย แสดงให้เห็นความโชติช่วงชัชวาลของพลังงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโรงแยกและแปรรูปก๊าซ ต่อมามีการสร้างโรงงานขึ้นที่ตำบลมาบตาพุด ในปี 2528 การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจึงได้ปรากฏขึ้นท่ามกลางโรงงานอุตสาหกรรม และหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่โดยไม่มีกระบวนการใดเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้แหล่งชุมชน พื้นที่การเกษตร มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในสมัยนั้นเป็นไปตามผังและแผนแบบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ ไม่รวมกากของเสียและวัตถุอันตราย สารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังไม่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าใดและถูกนำไปทิ้ง ณ แห่งหนใด เป็นเวลากว่า 10 ปี กระบวนการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษต้องได้รับการเปิดเผยจากต้นทางสู่ปลายทางบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชน
การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 2 ช่วงปี 2532-2547 มีนัยทางการเมือง 2 ประการ กล่าวคือ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจากรัฐวิสาหกิจไปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้ใช้อำนาจตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นอีก ๑ กระทรวง ต้นทุนทางการเมืองจึงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในการลงทุนซึ่งมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายรายทั้งเป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาลบนความเสื่อมโทรมของคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรชายฝั่ง ของชาวมาบตาพุด ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่หาดทรายชายทะเล ถึงชุมชนบริเวณนิคมอุตสาหกรรม ความพยายามของกลุ่มธุรกิจการเมือง ทุนท้องถิ่น ทุนชาติและทุนข้ามชาติ ต้องการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 จึงไม่อาจหยุดยั้งได้
ภาวะมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษอันไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามาจากโรงานอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการระยะที่ 1-2 นานกว่า 10 ปี ทั้งกระบวนการแก้ไขปัญหามีการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติครั้งที่ 4/2541 วันที่ 17 เมษายน 2541 ใช้เวลาถึง 10 ปี รายงานการประเมินชิ้นสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่าการขยายตัวอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 เกิดภาวะมลพิษจนไม่อาจรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมได้ ไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะ
คำสั่งศาลปกครองเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นผลให้มีการชะลอโครงการฯ จำนวน 65 โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งให้องค์กรอิสระให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 67 ย่อมหมายถึงในกรณี 65 โครงการฯ ปฏิบัติตามกระบวนการแห่งรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 67 อย่างครบถ้วนก็สามารถลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปได้
ภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง ปรากฏวาทะกรรมของนักการเมือง กลุ่มทุนอุตสาหกรรมออกมาพูดถึงความเสียหายด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจและการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ในทางตรงข้าม ไม่มีบุคคลใดออกมาประเมินความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้คนในชุมชนที่ล้มตายด้วยโรคมะเร็งมาจากภาวะมลพิษ การประเมินค่าความเสียหายของชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันไม่เคารพสิทธิชุมชนและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 การเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนผู้สูญเสียผลประโยชน์หลังจากนี้จะออกมาเรียกร้องสิทธิจากรัฐและต้องการให้ปกป้องทุนอุตสาหกรรมของตนไปอีกยาวนาน ในขณะที่ภาคประชาชนผู้อาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมมากกว่า 10 ปี เป็นผู้เรียกร้องสิทธิชุมชนให้รัฐและทุนอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นอำนาจรัฐโดยตรง ผู้ต้องใช้อำนาจและทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิตามที่กฎหมายรับรอง ดังนั้นภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งรัฐและทุนอุตสาหกรรม ต้องกระทำการดังนี้- องค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่มาบตาพุด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
- ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของปวงชน มาตรา 26
- เคารพสิทธิชุมชนและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง
- ให้องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สามารถรองรับโครงการปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ตามคำสั่งศาลได้หรือไม่ (กฎหมายข้อมูลข่าวสาร)
- เคารพและปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ให้มีสภาพบังคับโดยพลัน
- พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจัดลำดับความสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทางด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก ปัญหาสุขภาพ วิถีชีวิตและสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ได้รับผลกระทบจากสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (วี.โอ.ซี.) อันเป็นสารก่อมะเร็ง วิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนย่อมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม
- นับจากนี้ไป รัฐจะใช้อำนาจทางรัฐสภาและอำนาจฝ่ายบริหาร พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่เป็นอุปสรรคและไม่ส่งเสริมการลงทุน เงื่อนเวลาดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือประกาศหรือมีคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะรัฐมนตรี ให้สามารถดำเนินโครงการฯ ต่อไปได้ภายใต้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องทุนอุตสาหกรรม แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตคือการปกป้องทุนอุตสาหกรรม และอาจละเลยคุณค่าของความเป็นมนุษยชนผู้ออกมาปกป้องสิทธิของชุมชนด้วยตนเอง
- ค่ามาตรฐานภาวะมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ณ วันนี้ วัดด้วยคุณภาพชีวิตของประชาชน ตัวชี้วัดการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และทุนอุตสาหกรรม ในพื้นที่มาบตาพุด ตามคำสั่งศาล ต้องได้รับการปฏิบัติไปพร้อมกัน
From : http://www.fpps.or.th
|
|