ปุจฉา-วิสัชนา
เรื่องสิทธิมนุษยชน : โทษประหารชีวิตขัดต่อหลักพระพุทธศาสนาและสิทธิมนุษยชน

ปุจฉาที่ 1: โทษประหารชีวิตขัดต่อหลักพระพุทธศาสนาและสิทธิมนุษยชนอย่างไร?

วิสัชนาที่ 1: ผมมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับพระนิสิต-พระนักศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จำนวน 20 วิทยาเขตทั่วประเทศ ประเด็นที่ผมสอบถามจากพระอาจารย์และพระนิสิต คือ ”โทษประหารชีวิตขัดต่อหลักพุทธศาสนาหรือไม่” คำตอบชัดเจนครับ ว่าพระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการประหัตประหาร โดยท่านได้ยกตัวอย่างคำสอนมากมายตั้งแต่ศีลห้าที่พวกเรารู้จักกันดี คือ ”พึงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” และดูเหมือนว่าเรื่องขององคุลีมารจะถูกนำมาอธิบายมากที่สุด โดยสรุปแล้ว พระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ มนุษย์จึงไม่ควรประหัตประหารกัน พระพุทธศาสนาถือความมีเมตตากรุณาเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง

โทษประหารชีวิตขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานขั้นต่ำสุดที่สำคัญยิ่งในหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งได้บัญญัติรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 6 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ปัจจุบันนานาอารยประเทศมีความตระหนักมากขึ้นต่อความปารถนาให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของผู้คนทั่วโลก ปรากฏเป็นที่ประจักษ์จากผลการลงมติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2550 และอีกครั้งในปี 2551โดยมีมติให้ทุกประเทศทั่วโลกงดเว้นโทษประหารชีวิตอันเป็นหนทางนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด (มติ 620149)

การประหารชีวิตผู้ต้องขังคดียาเสพติดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ตามรายงานกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระบุว่า ความผิดข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ถือเป็นความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิต รัฐบาลไทยในฐานะภาคีของกติกาดังกล่าวไม่สามารถเพิกเฉยได้

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมีเหตุผลในการคัดค้านการลงโทษประหารชีวิต ที่สำคัญ คือ 1. ไม่มีมนุษย์หรือกลุ่มคนใดที่สามารถอ้างสิทธิทำร้ายคนอื่นหรือคร่าชีวิตผู้อื่นถึงตาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด 2. บางครั้งผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตและไม่มีหนทางชดใช้ 3. ข้อโต้แย้งที่ว่า การประหารชีวิตเป็นมาตรการปรามอาชญากรรมร้ายแรงได้นั้น เป็นข้อสันนิษฐานที่ขาดพื้นฐานรองรับ

ปุจฉาที่ 2 : หากยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วจะมีอะไรมารองรับ?

วิสัชนาที่ 2: ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทั้งพระพุทธศาสนาและสิทธิมนุษยชนมีความลึกซึ้งในการแก้ปัญหาอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ เพียงแต่ทั้งสองแนวคิดนี้ต้องการผู้นำรัฐบาลที่เข้มแข็งในการเปลี่ยนแปลง ในการยกเลิกโทษประหารชีวิตและใช้วิธีการลงโทษอย่างจริงจังมาทดแทน อาทิ จำคุก 20 ปี หรือตลอดชีวิต ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีความพยายามที่จะละเว้นโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2546 แต่ทำไมในปี 2552 การลงโทษประหารชีวิต การฆ่าคนโดยถูกต้องตามกฎหมายจึงหันกลับมาใช้อีก ถึงเวลาตัดสินใจยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วครับท่าน

นายพิทักษ์ เกิดหอม
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน


From : http://www.fpps.or.th