
เรื่องสิทธิมนุษยชน : เสรีภาพในการชุมนุม
ปุจฉาที่ 1 : ประเทศไทย ควรมีกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่?
วิสัชนาที่ 1 : การชุมนุมและเดินขบวนถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในสังคมประชาธิปไตย เพราะว่า การชุมนุมประท้วงในเรื่องต่างๆ ของประชาชน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ค่าแรงไม่เป็นธรรม หรือเรียกร้องให้รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น การชุมนุมหรือการเดินขบวนจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้น การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนจึงมิใช่เรื่องที่เลวร้ายหรือควรถูกประณามแต่อย่างใด
ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พยายามผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม นำมาซึ่งปัญหาที่มีข้อถกเถียงกันว่า สังคมไทยควรมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมหรือไม่ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในทางการเมืองในปัจจุบันที่มีการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างแหลมคม ซึ่งในประเด็นนี้ได้เคยมีการถกเถียงกันบ้างหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมประชาชนกรณีปัญหาโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ในกรณีนี้ ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเป็นหลักไว้ว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น มิชอบและให้ชดใช้ให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย
ในครั้งนี้ผู้ริเริ่มผลักดันให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องดูแลการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าการชุมนุมในประเทศไทยได้มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน อาทิ มีการใส่เสื้อสีที่เหมือนๆ กันจำนวนมาก (ทั้งสีเหลือง แดง น้ำเงิน และขาว) การมีอาวุธ เช่น มีด ไม้ และระเบิดปิงปอง (ปรากฏเป็นภาพข่าวให้เห็นโดยทั่วไป) อาจรวมถึงอาวุธอื่นๆ วิธีการในการชุมนุมมีการประกาศยกระดับการชุมนุมให้มีความเข้มข้นขึ้นโดยการปิดถนน ปิดสถานที่ราชการมากขึ้น ที่ผ่านมารัฐจัดการการชุมนุมโดยใช้กฎหมายอาญาเป็นหลัก เช่น ข้อหามั่วสุม ข้อหาทำร้ายร่างกาย ข้อหากีดขวางทางจราจร ตลอดถึงข้อหาก่อการจลาจล ซึ่งอันที่จริงแล้วการจัดการกับการชุมนุมไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายอาญาโดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๓ บัญญัติว่า “...บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ...” และแม้ว่าการชุมนุมนั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญคือมีการกระทบสิทธิคนอื่น หรือเป็นการชุมนุมไม่สงบไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องฝึกทักษะในการจัดการกับการชุมนุมอย่างชาญฉลาดและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่พูดมาอย่างนี้มิได้หมายความว่ารัฐทำอะไรไม่ได้เลย ตรงกันข้าม ทั้งกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนได้ให้อำนาจรัฐในการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่สงบ เพียงแต่มาตรการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน คือ มองเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นคน นั่นเอง
ปุจฉาที่ 2 : มาตรการหรือกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมควรเป็นอย่างไร ?
วิสัชนาที่ 2 : การมีกฎหมายหรือไม่เป็นนั้น มิใช่เรื่องที่สำคัญนัก เพราะประเทศเรามีกฎหมายจำนวนมากที่บังคับใช้ต่อผู้ชุมนุม แต่การมีกฎหมายเฉพาะที่มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองมาจัดการการชุมนุมนั้นย่อมดีกว่าการใช้กฎหมายอาญา สังคมจะได้สร้างกติการ่วมกันภายใต้การใช้สิทธิที่ถูกต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น แต่หากจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมเฉพาะแล้ว ก็ควรจะยกเลิกการใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผู้ชุมนุมเสียทั้งหมด เพราะกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมนี้จะต้องมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นหลักอย่างมีขอบเขต มากกว่าการเป็นกฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน เลิกเสียทีเถอะการใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ มาเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุม มันไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยในบ้านเรา
นายพิทักษ์ เกิดหอม ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน
From : http://www.fpps.or.th
|