|

สัมมนาและเปิดตัวหนังสือ“การจัดการศึกษาในท้องถิ่น” ที่วิทยาลัยชุมชนตาก อ.เมือง จ.ตาก
โดยปกติการแนะนำหนังสือออกใหม่ของสถาบันนโยบายศึกษา มักจัดในกรุงเทพมหานคร เพราะคอหนังสือทางวิชาการส่วนใหญ่ และสมาชิกที่ติดตามงานของสถาบันฯ ล้วนอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่การจัดงานแนะนำครั้งนี้ ทั้งผู้เขียน คือ คุณสนิท จรอนันต์ และทางสถาบันฯ ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า งานเรื่องการศึกษาของท้องถิ่น ควรที่จะจัดในต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้ ความเหมาะสมจึงมาลงตัวที่วิทยาลัยชุมชนตาก จ.ตาก ที่มีปรัชญาในการเป็นวิทยาลัยของชุมชน เพื่อพัฒนาคนและพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้จัดไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2552 ณ หอประชุมตันติสุนทร วิทยาลัยชุมชนตาก อ.เมือง จ.ตาก โดยมีวิทยากรร่วมเสวนากับผู้เขียน | 
ลงทะเบียน | คือ รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งผู้เขียนและผู้ร่วมเสวนาต่างเป็นเพื่อนเรียนร่วมรุ่นจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกด้วย ทั้งสองท่านจึงเป็นผู้ที่มีพื้นความรู้เรื่องการศึกษาของประเทศเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรพิเศษที่มากล่าวต้อนรับการจัดงานครั้งนี้ คือ คุณอุดร ตันติสุนทร ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ทำงานยืนหยัดด้านการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ผู้เขียนหนังสือ เรื่อง “การจัดการศึกษาในท้องถิ่น” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์ที่อ่านง่าย ขายดี ของสถาบันฯ มาแล้ว 2 เล่ม คือ “ความเข้าใจเรื่องการปกครองท้องถิ่น” และ “รัฐบาลทำงานอย่างไร” การเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ทั้งที่เคยเป็นครูในท้องถิ่นในเขตหนองจอก กรุงเทพฯ มาก่อน และการเป็นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ด้านนโยบายและแผน ทำให้เข้าใจปัญหาและอุปสรรคของทั้งระบบคิดและวิธีการทำงานของราชการในการจัดการศึกษาที่ทำให้เด็ก-เยาวชนในท้องถิ่น เพียงแค่อ่านออก จำได้ และยากที่จะคิดได้-เขียนเป็น จนกระทั่งเมื่อมี พ.ร.บ.การศึกษา และ พ.ร.บ.การกระจายอำนาจในยุคปฏิรูปการศึกษา (รอบแรก) ในช่วงปี 2540 และการปฏิรูปการเมือง ที่ชุมชนท้องถิ่นมีฐานะเป็นองค์กรนิติบุคคล คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองโดยให้บริการสาธารณะแก่ชุมชน รวมถึงเรื่องการศึกษาด้วย การบริหารและการจัดการบริการด้านการศึกษาในท้องถิ่นสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดใหม่ เช่น อบต. และ อบจ. จึงเป็นเรื่องที่ทั้งยาก และท้าทายอย่างยิ่ง เพราะแต่เดิมการศึกษาของชาตินั้น ศูนย์รวมอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ

บรรยากาศในห้องสัมมนา | 
หนังสือ "การจัดการศึกษาในท้องถิ่น" เขียนโดย นายสนิท จรอนันต์ | “การจัดการศึกษาในท้องถิ่น” ผู้เขียนได้เสนอมุมมองไว้น่าสนใจว่า ในเบื้องต้นต้องเข้าใจปรัชญาการศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนว่า ต้องเป็นการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ทำได้ ไม่ใช่ทำตาม และท่องจำ แล้วเขาจึงจะพัฒนาตัวเองได้ ต้องเข้าใจพื้นฐานของแต่ละท้องถิ่น เพราะการให้บริการทางการศึกษา ต้องศึกษาความพร้อม และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ เพราะการศึกษาคือการสร้างคนให้เจริญงอกงาม ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อพร้อมให้การบริการอย่างเต็มที่ ต้องศึกษาลักษณะทางกายภาพของท้องถิ่นว่ามีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร รวมถึงขนาดของท้องถิ่นที่มีการพึ่งพาจากส่วนกลาง หรือจากเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากกว่า การคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในท้องถิ่นค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะนอกจากเทศบาลที่มีประสบการณ์ในเรื่องจัดการศึกษามายาวนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ อบจ. ส่วนมากยังไม่มีประสบการณ์และความรู้ที่จะเข้ามารับภารกิจนี้ตามกฎหมายได้ แม้ว่าจะมีความพยายามจากการถ่ายโอนการศึกษาจากสังกัดกระทรวงศึกษา มามีตำแหน่งแห่งหนอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วก็ตาม เพราะองค์กรที่จะรับโอนก็ยังขาดความพร้อม ผู้จะโอนไปก็ขาดความมั่นใจ ในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่า การถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทที่ให้ดำเนินการโดยเอกเทศ ต่างก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ดังนั้น ข้อเสนอความเป็นไปได้จึงน่าจะปรับแผนปฏิบัติการโดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับร่วมกันบริหารและจัดการศึกษาในรูปแบบสหการ ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีความพร้อม และเป็นการระดมทรัพยากรทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ องค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ เช่น เทศบาล ที่มีความชำนาญด้านการจัดการศึกษา และองค์กรอื่นๆ ในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น

(จากซ้าย) นายสนิท จรอนันต์, รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม, นายอุดร ตันติสุนทร และนางทิพย์พาพร ตันติสุนทร
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ได้สนับสนุนแนวคิดการจัดการศึกษาในท้องถิ่น โดยชี้ให้เห็นว่า การศึกษาควรส่งเสริมการเรียนรู้ และมีปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ก็ได้เขียนไว้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำความเข้าใจต่อปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง ไม่ติดอยู่ในกรอบที่รัฐจัดให้ในระบบตามกระทรวงศึกษาเท่านั้น แต่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่สร้างการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ทั้งจากองค์กรอื่นนอกจากภาครัฐ จากปัจเจกบุคคล จากชุมชนที่รวมตัวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนิติบุคคล อีกทั้งยังสนับสนุนแนวคิดเรื่องสหการที่ผู้เขียนเสนอไว้ว่า จะต้องร่วมมือผลักดันให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับทั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ. ควรร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด โดยใช้ศักยภาพ ประสบการณ์ งบประมาณ และความพร้อมของชุมชนและปัจเจกบุคคลเข้าร่วมมือกัน ดังเช่นที่ อาจารย์โกวิทย์ ได้ยกตัวอย่าง ชุมชนกะตะกะรน ที่เกาะภูเก็ต แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการทำยุทธศาสตร์ชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาทั้งในและนอกระบบ การศึกษาทางเลือก มีการบริหารจัดการให้ความรู้แก่แม่ค้าหาบเร่อย่างเป็นระบบ มีระเบียบ มีการนวดที่มีมาตรฐาน มีความสะอาด เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว เท่ากับเป็นการให้การศึกษาแก่ชุมชน และสามารถสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม และสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ การศึกษาจึงมีตัวละครใหม่ๆ ที่จะเพิ่มความสามารถแก่ท้องถิ่น หากเข้าใจแนวคิดของการศึกษา รูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย การให้บริการ และการจัดการให้สอดคล้องกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงการมองออกนอกกรอบจากการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้กรอบนโยบายตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2543
นอกจากนี้ยังมีการอภิปราย และร่วมเสนอความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาในท้องถิ่นหลายท่าน ซึ่งทุกฝ่ายได้มีความเห็นที่สอดคล้องว่า- การจัดการศึกษาควรมีแนวคิดอย่างกว้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างปัญญา สามารถทำได้หลายทาง เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองสูง และมีความรับผิดชอบ
- การจัดการศึกษาในท้องถิ่น ในความขัดสนของท้องถิ่น ไม่ใช่อุปสรรคที่แท้จริง ท้องถิ่นต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาร่วมมือกันแก้ปัญหาของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับต้องระดมทรัพยากรในท้องถิ่น แล้วร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นได้เอง เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอกและภาครัฐ จะทำให้ท้องถิ่นทำงานสนองความต้องการของตนเองได้คล่องตัว
- สถาบันครอบครัว ต้องมีส่วนช่วยในการสนับสนุนด้านการศึกษาในท้องถิ่น และให้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น
- การศึกษาในท้องถิ่น ต้องปลูกฝังทัศนคติให้ผู้เรียนได้มีทักษะชีวิตสามารถเอาตัวรอดได้ สามารถสร้างความรู้ และจัดการความรู้ได้จากที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาแล้วไปเป็นลูกจ้าง แต่ต้องสามารถคิด และสร้างงานได้ เป็นการสร้างคนให้รับผิดชอบต่อตนเอง และพึ่งพาตนเองในท้องถิ่น

นายบัญญัติ พุ่มพันธ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น | 
รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | 
นายสนิท จรอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ และที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ |
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปที่มีข้อเสนอแนะดีๆ จากการสัมมนาและเปิดตัวหนังสือ “การจัดการศึกษาในท้องถิ่น” ที่จังหวัดตาก การสนทนาเรื่องดังกล่าวยังจะมีจัดอีกในหลายพื้นที่ ซึ่งสถาบันฯ จะได้นำมารายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป
From : http://www.fpps.or.th
|
|