ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
พฤษภาคม 2552 : พ.ร.ก. กู้ 4 แสนล้าน ไม่ขัด รธน.

  • พ.ร.ก.กู้ 4 แสนล้าน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
  • เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ติดลบ “7.1%”
  • ให้ข้าราชการดูงานในประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ขึ้นภาษี น้ำมัน-บุหรี่
  • ครม. ตีกลับเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
  • เลิกอายุความ “กม.อาญา”
  • ศาล สั่ง “สมชาย” บุคคลสาบสูญ
  • 6 แนวทางออกแก้ปัญหาวิทยุชุมชน
  • ครม. รับทราบลดเงินประกันสังคม
  • นศ.ใหม่ 2 หมื่นรายกู้ กรอ. ต่อ
  • โฆษณา “เหล้า” ได้เฉพาะ “โลโก้”

    พ.ร.ก.กู้ 4 แสนล้าน ไม่ขัด รธน.

    เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยระบุว่า คณะตุลาการพิจารณาประเด็นแรก พ.ร.ก. ดังกล่าวเป็นการตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมิให้ตกต่ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในประเด็นที่สอง เห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง อีกทั้งยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้มาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญ โดยกระทรวงการคลังจะต้องนำเอา พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การประชุมรัฐสภา เพื่อให้การรับรองในวันที่ 15-16 มิถุนายน หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจึงจะสามารถกู้เงินได้ตามแผนที่วางไว้

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าชี้แจงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส. ขอให้วินิจฉัย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 4 แสนล้านบาท ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่

    เศรษฐกิจไตรมาสแรก ติดลบ “7.1%”

    เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปี 2552 ติดลบ 7.1% และเป็นการติดลบที่ติดกันถึงสองไตรมาสแล้ว เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2551 มีอัตราติดลบที่ 4.2% นอกจากนั้น สศช. ยังคาดว่าทั้งปี 2552 จีดีพีจะติดลบ 2.5 ถึง 3.5% แต่จุดที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะอยู่ที่ 3%

    ให้ข้าราชการดูงานในประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เห็นชอบการปรับแผนงบประมาณด้านการฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา และการดูงาน ของข้าราชการใน 15 กระทรวง จากต่างประเทศเป็นในประเทศ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ทำให้สามารถลดงบประมาณลง 173.90 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% จากงบประมาณการดูงาน ฝึกอบรม จัดประชุมและสัมมนาทั้งหมด 1,331.84 ล้านบาท

    นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการไปดูงาน สัมมนาหรือฝึกอบรมในประเทศเป็นหลัก และยังให้กระทรวงมหาดไทยดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดการดูงานในต่างประเทศด้วย

    ขึ้นภาษี น้ำมัน-บุหรี่

    สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบพระราชกำหนดเพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ในวันที่ 18 พฤษภาคม ทำให้ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 และดีเซลจาก 5 บาท เป็น 10 บาทต่อลิตร แต่อย่างไรก็ตามยังจะไม่มีการจัดเก็บภาษีเต็มตามเพดานที่เพิ่ม โดยคาดว่าภาษีใหม่ของเบนซิน 95 และ 91 จะเพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตรเป็น อยู่ที่ 7 บาทต่อลิตร

    ส่วนภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะขยายเพดานไปที่ 90% ของราคาขาย และจะเก็บจริงที่ 85% ซึ่งเพิ่มจากการเก็บในปัจจุบันที่ 80%

    การขยายเพดานภาษี 2 รายการครั้งนี้ ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 7.5 หมื่นล้าน

    ครม. ตีกลับเช่ารถเมล์ 4 พันคัน

    เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังไม่อนุมัติโครงการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ให้กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไปร่วมกันพิจารณา เพื่อหาข้อยุติภายในสองสัปดาห์ และนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง

    โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีได้ปรับลดจำนวนลงจาก 6,000 เหลือ 4,000 คัน ทำให้ค่าเช่ารถ 4,780 บาทต่อคันต่อวัน เหลือเม็ดเงิน 69,788.00 ล้านบาท ดังรายละเอียด คือ
    • ค่าตัวรถ 2,195 บาทต่อคันต่อวัน รวมตลอดโครงการเป็นเงิน 32,047 ล้านบาท
    • ค่าซ่อมรถ 2,250 บาทต่อคันต่อวัน รวมเป็นเงิน 32,850 ล้านบาท
    • ค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 157 บาทต่อคันต่อวัน รวมเป็นเงิน 2,292 ล้านบาท
    • ค่าประกันภัย 31 บาทต่อคันต่อวัน รวมเป็นเงิน 453 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ 139 บาทต่อคันต่อวัน รวมเป็นเงิน 2,029 ล้านบาท
    อย่างไรก็ตาม ครม. ได้เห็นชอบในหลักการแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ของ ขสมก. ทั้งในส่วนการปรับโครงสร้างองค์กร การปรับลดอัตราพนักงาน และงานด้านการเงิน ให้ ขสมก. กู้เงินมาปรับโครงสร้างหนี้

    แก้ “กม.อาญา” เลิกอายุความ

    เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการแก้กฎหมายประมวลอาญาเพิ่มเติมในหลักการเกี่ยวกับอายุความ 2 เรื่อง ได้แก่

    1. ขยายระยะเวลาในการขาดอายุความที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ได้ จากเดิมภายใน 3 เดือน เป็น 6 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

    2. ยกเลิกอายุความในการนำตัวผู้กระทำผิดที่หลบหนีมาลงโทษใน กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุด

    ศาลสั่ง “สมชาย” บุคคลสาบสูญ

    เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ศาลแพ่งรัชดาภิเษกมีคำสั่งให้ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เป็นบุคคลสาบสูญ เนื่องจากไม่มีผู้พบเห็นเป็นเวลานาน 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

    ทนายสมชาย ได้ว่าความในคดีสิทธิมนุษยชนที่ชาวบ้านถูกละเมิดไว้หลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับผู้ต้องหามุสลิม 5 คนในภาคใต้ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีนร้องเรียนว่าถูกตำรวจขู่เข็ญทำทารุณกรรมจึงจำต้องรับสารภาพ นายสมชาย ได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2547 ดังนั้นนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาจึงต้องยื่นคำร้องเพื่อให้สามารถเข้าไปจัดการทรัพย์สินของนายสมชาย ได้

    6 แนวทางแก้ปัญหาวิทยุชุมชน

    เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เสนอผลการศึกษา “การบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุชุมชนภาคประชาชน” โดยศึกษาจากตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัญหาที่ทำให้วิทยุชุมชนไม่สามารถทำหน้าที่สื่อบริการสาธารณะระดับชุมชนได้เพราะรัฐมีนโยบายให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ แต่ขาดการกำกับดูแล และมีการแย่งชิงคลื่นความถี่

    แนวทางแก้ไขปัญหา คือ

    1. ยกเลิกนโยบายให้วิทยุชุมชนมีโฆษณา

    2. ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนเป็นการชั่วคราวก่อนในช่วงที่มีการสรุปบทเรียนประสบการณ์ในการดำเนินการของภาคประชาชน

    3. ให้จัดสรรคลื่นความถี่สำหรับวิทยุชุมชนภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตามที่กฎหมายกำหนด

    4. ให้มีคณะกรรมการอิสระทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินการของวิทยุชุมชนเป็นไปตามกรอบที่กำหนด

    5. ให้ความรู้และสนับสนุนด้านเทคนิคในการดำเนินการวิทยุชุมชน

    6. ให้วิทยุท้องถิ่นเชิงพาณิชย์ได้มีสิทธิในการประกอบกิจการอย่างเสรี และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

    ลดเงินประกันสังคม 2%

    เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามที่กระทรวงแรงงานเสนอมา โดยให้

    1. ลดอัตราเงินสมทบเฉพาะในส่วนนายจ้างและลูกจ้างจากเดิม 5% ลงเหลือ 3% ส่วนรัฐบาลยังจ่ายเงินสมทบในอัตรา 2.75% เหมือนเดิม

    2. ลดอัตราเงินสมทบเฉพาะประโยชน์ทดแทน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร จาก 1.5% เป็น 0.5% แต่ไม่มีการลดอัตราเงินสมทบกรณีว่างงาน

    3. ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบบำเหน็จชราภาพจากฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง เป็น 2% ของค่าจ้าง แต่จะไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

    4. การปรับลดนี้มีผลตั้งแต่วันประกาศกฎกระทรวงถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 จากนั้นให้กลับมาใช้อัตราปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

    การปรับลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนจำนวน 579,235 คนจ่ายเงินลดลงคนละ 192 บาทต่อเดือน

    ครม. ไฟเขียวปล่อยกู้ กรอ. ต่อ 1 ปี ให้ นศ.ใหม่ กู้ 2 หมื่นราย- 7 พันล้านบาท

    เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในการปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ประมาณ 20,000 ราย ไปก่อนจนกว่าผู้กู้รุ่นสุดท้ายจะจบการศึกษา แต่จะไม่มีการของบฯ เพิ่มเติมอีก เพราะในปีการศึกษา 2553 นักศึกษาใหม่ทั้งหมดจะเข้าสู่กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติในเรื่องเงื่อนไขในการกู้ เช่นรายได้ต่อปีของครอบครัว และอยู่ในสาขาวิชาที่จำเป็น หรือขาดแคลน เป็นต้น

    กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2538 เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการศึกษา ขณะนี้มีเงินอยู่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะโอนไปให้แก่ผู้กู้ของ กรอ. ต่อไป

    โฆษณา “เหล้า” โชว์ได้เฉพาะ “โลโก้”

    เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมา เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. ห้ามมิให้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ในลักษณะการบรรยายสรรพคุณ แต่ทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม

    2. ห้ามการโฆษณาที่ปรากฏภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นเป็นภาพสัญลักษณ์ (โลโก้) ของผลิตภัณฑ์ หรือโลโก้บริษัทผู้ผลิต โดยในสื่อโทรทัศน์กำหนดให้โชว์โลโก้ได้ไม่เกิน 2 วินาที สื่อสิ่งพิมพ์กำหนดให้มีโลโก้ไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด

    3. กำหนดให้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดำเนินการได้เฉพาะเวลา 22.00-05.00 น.

    From : http://www.fpps.or.th


  •