ปฏิรูปการเมือง
ประชาธิปไตยในชุมชนเข้มแข็ง

ยศวดี บุณยเกียรติ


ดิฉันอ่านบทความเรื่อง ชุมชนเข้มแข็งบนเกาะ Hime (อ่านว่า ฮี-เม) ที่อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนลงในมติชนรายวันฉบับวันที่ 30 เมษายน 2552 แล้วสนใจ จึงเข้าไปในกูเกิลเพื่อจะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกาะนี้ และก็พบบทความของหนังสือนิวยอร์คไทมส์ วันที่ 22 เมษายน 2009 ชื่อ A Workers’ Paradise Found Off Japan’s Coast ที่เขียนโดย Martin Fackler เข้าใจว่าน่าจะเป็นบทความที่อาจารย์วรากรณ์ ท่านนำมากล่าวอ้าง เพราะข้อมูลต่างๆ นั้นตรงกัน เพียงแต่อาจารย์วรากรณ์ ท่านเขียนในลักษณะชี้ให้เห็นถึงความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่ประชาคมรักใคร่สามัคคียึดค่านิยมดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น และที่สำคัญคือมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกัน


ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างหรือพนักงานของรัฐบนเกาะนี้จะได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าพนักงานอื่นๆ ที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน เวลาทำงานเท่ากันในที่อื่นๆ ถึง 1 ใน 3 ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำเงินที่เหลือนั้นไปจ้างงานเพิ่มได้อีก เพราะฮีเมเป็นเกาะเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 2,519 คน ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว ทำประมง จับปลาและฟาร์มกุ้ง หากไม่มีการจ้างงานในภาครัฐประชากรวัยหนุ่มสาวก็จะอพยพออกไปหางานทำที่อื่น ดังนั้นเมื่อมีการจ้างงาน คนเหล่านี้ก็จะได้มีงานทำ เมื่อประชากรทั้งเกาะมีรายได้ ก็ทำให้มีเงินหมุนเวียนเกิดธุรกิจการค้าและบริการ ผลจากการที่ทุกคนมีรายได้แบบพอเพียง ไม่มีการว่างงาน ทำให้ไม่มีปัญหาอาชญากรรม ทั้งเกาะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงคนเดียว และทุกบ้านไม่ต้องใส่กลอนประตูในเวลากลางคืน

บทความของมาร์ติน แฟคเลอร์ บรรยายสภาพของเกาะไว้ละเอียดกว่า และมองว่าเกาะฮีเมคือสวรรค์ของคนทำงานใกล้เคียงกับ Utopia หรือเมืองในฝันของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเลิกจ้าง ว่างงาน (ที่ทั่วโลกกำลังประสบ) ไม่มีผลกระทบอะไรกับชาวเกาะฮีเมเลย

หลังอ่านทั้งสองบทความดิฉันติดใจเรื่องที่นายกเทศมนตรีของเกาะนี้เป็นคนในสกุลฟูจิโมโตต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาถึง 49 ปี คือ นายคูมาโอ ฟูจิโมโต [Kumao Fujimoto] ผู้พ่อเป็นก่อนในปี 1960 และเมื่อเสียชีวิตลงในปี 1984 นายอาคิโอ ฟูจิโมโต [Akio Fujimoto] ผู้ลูกก็เป็นต่อมาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญคือเป็นแบบไม่มีคู่แข่ง คือไม่มีใครลงเลือกตั้งแข่ง

ฟูจิโมโต ผู้ลูก อธิบายความว่า เป็นเพราะการแข่งขันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี 2 คนในปี 1955 ทำให้ชาวเกาะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน หลังเลือกตั้งแล้วการเป็นปฏิปักษ์นี้ยังคงมีต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งในปี 1960 ชาวเกาะจึงตกลงร่วมกันที่จะหาใครสักคนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ดังนั้นในปี 1960 บิดาของเขาจึงได้รับเลือกแบบเอกฉันท์ไม่มีคู่แข่ง และในสมัยที่สอง คือ ในปี 1966 ฟูจิโมโตผู้พ่อก็ได้ริเริ่มระบบแบ่งงาน [work-sharing] ขึ้น คือการที่พนักงานภาครัฐยอมรับเงินค่าตอบแทนน้อยลงเพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทำให้ทุกคนบนเกาะมีงานทำ เหตุผลนี้ทำให้เมื่อบิดาของเขาตายลง เขาจึงได้รับเลือกแบบไม่มีคู่แข่งให้เป็นนายกเทศมนตรีต่อจากพ่อเป็นเวลาต่อเนื่องมาถึงเจ็ดสมัย ฟูจิโมโต กล่าวแบบตลกๆ ว่า เขามีแต่ลูกสาวจึงไม่คิดว่าจะได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีคนต่อไป เพราะชาวเกาะหัวเก่าคงไม่ยอมรับนายกเทศมนตรีหญิง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การไม่มีคู่แข่งขันและทำให้ฟูจิโมโตได้เป็นนายกเทศมนตรีโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งนี้ถือว่าเกาะนี้มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ชาวเกาะเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะมีคนหนึ่งที่บอกว่าการส่งต่อทอดอำนาจจากพ่อสู่ลูก แบบก็เหมือนการปกครองในประเทศเกาหลีเหนือที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ฟูจิโมโต คนลูก ปฏิเสธว่า นี่คือค่านิยมเก่าแก่ดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ มีความกลมกลืนเสมอภาคทางสังคม ไม่มีใครรวยมากหรือจนมาก เขาเห็นว่าหากมีการแข่งขันเสรีก็จะมีคนรวยที่ได้ส่วนแบ่งทั้งหมดไปครอบครอง ส่วนคนจนนั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย

มาร์ติน แฟคเลอร์ บรรยายไว้ว่า ชาวเกาะฮีเมทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายคนแปลกหน้า สวนสาธารณะและส้วมสาธารณะสะอาดเอี่ยม แม้สภาพภูมิประเทศจะเป็นภูเขาเกินกว่าครึ่ง แต่ร้อยละ 97 ของครัวเรือนมีเคเบิลทีวีให้บริการฟรีไปถึง

เรื่องราวของชาวเกาะฮีเมน่าสนใจมากเพราะสถาบันนโยบายศึกษาเพิ่งจะจัดสัมมนาครูไปเมื่อเร็วๆ นี้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คุณครูยืนยันว่าในทุกโรงเรียนมีการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยโดยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน หลายโรงเรียนมีการนำรูปแบบการตั้งพรรค การลงสมัครรับเลือกตั้ง และการหาเสียงที่เลียนแบบการเมืองจริงทุกอย่าง เช่น มีประกาศนโยบายพรรค การหาเสียง และบางที่ก้าวไกลไปถึงการแจกสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้

ประเด็นนี้เองที่ผู้ใหญ่พึงนำมาคิดทบทวนว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ จริงอยู่การเลือกตั้งคือกระบวนการหนึ่งของประชาธิปไตย แต่คงไม่ใช่องค์ประกอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลังระดมสมองกันมาหนึ่งวันว่าประชาธิปไตยในโรงเรียนประกอบด้วยอะไรบ้าง วันรุ่งขึ้นก็เป็นการระดมความคิดอีกครั้งว่าจะสร้างประชาธิปไตยในแต่ละภาคส่วนสังคมได้อย่างไร คำตอบที่ได้ คือ
  • ครอบครัว : สมาชิกทุกคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตน แบ่งความรับผิดชอบ มีคุณภาพทั้งกายและปัญญา ความรักความเข้าใจกันในครอบครัวคือภูมิคุ้มกัน มีกิจกรรมร่วมกัน มีกติการ่วมกัน เคารพสิทธิและรับฟังความคิดผู้อื่น และเมื่อมีปัญหาต้องแก้ไขร่วมกัน
  • โรงเรียน : บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาลและโปร่งใส ผู้บริหารรับฟังความเห็นผู้อื่น ครูเป็นแบบอย่าง ใจกว้างและรับฟัง ยอมรับความแตกต่างของนักเรียน ส่งเสริมและสนับสนุน ส่วนนักเรียนต้องมีวินัย รู้หน้าที่ มีความเอื้ออาทรและจิตสาธารณะ มีส่วนร่วมทั้งในโรงเรียนและชุมชน ในโรงเรียนมีการสร้างความรู้และหล่อหลอมโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน บรรยากาศในห้องเรียนต้องมีการปฏิสัมพันธ์และให้เกียรติกัน ฝึกฝนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม มีจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์และรักท้องถิ่น
  • หน่วยงานรัฐ : บริหารด้วยความโปร่งใส ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเสมอภาคและยุติธรรม ตระหนักในหน้าที่ คือ การอำนวยการและอำนวยความสะดวก สนับสนุนเผยแพร่ประชาธิปไตยในสังคมและชุมชน และให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม
  • ประชาสังคม : ต้องแสวงหาความรู้ ใช้วิจารณญาณและดำรงความเป็นกลาง มีจรรยาบรรณคือจิตสาธารณะ ประสานงานสร้างชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเรื่องสิทธิและหน้าที่ และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การรณรงค์ การแสดงความคิดเห็น เวทีชาวบ้าน เป็นต้น
เมื่อย้อนกลับไปอ่านเรื่องเกาะฮีเม จะพบว่ารหัสเหล่านี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งที่ไม่ได้ยึดโยงกับการเลือกตั้ง อาจจะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะถกเถียงกันว่าประชาสังคมของเกาะฮีเมเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ เพราะเรื่องที่ใกล้ตัวกว่านี้คือการพิจารณาทบทวนว่าตัวของเราเองมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน และเราได้ใช้หลักประชาธิปไตยในการปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวและเพื่อนร่วมงานแล้วหรือยัง?

From : http://www.fpps.or.th