
เรื่อง สิทธิมนุษยชน : สิทธิแรงงานข้ามชาติ
ปุจฉา : ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิหรือไม่อย่างไร?
วิสัชนา : ในประเทศไทยและทุกประเทศที่มีแรงงานย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ควรได้รับสิทธิในด้านสภาพการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานไทย รวมทั้งชั่วโมงการทำงาน วันหยุด วันลาการทำงานนอกเวลาปกติ ตลอดจนความปลอดภัยในการทำงาน แต่ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติต้องทนทำงานโดยได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าแรงงานทั่วไป และทำงานยาวนานกว่าประเทศไทยมีแรงงานจากประเทศลาว กัมพูชา และพม่า เข้ามาทำงานเกือบสองล้านคน ส่วนใหญ่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รัฐบาลไทยได้พยายามจัดระบบการบริหารแรงงานข้ามชาติ โดยการกำหนดนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน (MOU) เพื่อพิสูจน์สัญชาติของแรงงานที่อยู่ในประเทศไทย และให้นำแรงงานเข้ามาทำงานโดยช่องทางที่ถูกกฎหมาย แต่ยังล้มเหลวกับประเทศพม่า รัฐบาลไทยจึงใช้นโยบายชั่วคราว คือ การเปิดโอกาสให้แรงงานสัญชาติพม่าที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมาลงทะเบียน โดยกระทรวงมหาดไทยจดทะเบียนรับรองสถานะบุคคลให้เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่เข้าเมืองไทยโดยผิดกฎหมาย และรอการส่งกลับ แต่ในขณะที่รอการส่งกลับนั้น กรมการจัดหางาน
ออกใบอนุญาตทำงานให้เป็นการชั่วคราวสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสากลที่ประชาชนไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศใดก็ย่อมได้รับความคุ้มครอง นอกจากนั้นแล้ว สนธิสัญญาหลายฉบับยังได้รับรองสิทธิแรงงาน อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่ได้บัญญัติว่า สิทธิในสภาพการจ้างที่ยุติธรรมและหลักประกันสำหรับลูกจ้าง (ข้อ 7) สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การต่อรองและการนัดหยุดงาน ความปลอดภัยและชีวอนามัย (ข้อ 8) สิทธิในสวัสดิการสังคมและการประกันสังคม (ข้อ 9) เป็นต้น
ปุจฉา : จะแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร?
วิสัชนา : การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติให้รับสิทธินี้ ต้องเริ่มต้นที่ผู้ปฏิบัติและสังคมโดยส่วนรวมต้องยอมรับแรงงานข้ามชาติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมเสมอภาคกับแรงงานไทยหากเราคิดอย่างนี้ได้ปัญหาก็จะลดน้อยลงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 ถึงแม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานไทยทุกประการ เช่น ค่าจ้าง วันหยุด ค่าชดเชย แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร ซึ่งแรงงานข้ามชาติควรมีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อรองกับนายจ้าง ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน กรรมการหรืออนุกรรมการ เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย แม้ว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแรงงานเหล่านั้นขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิ ขาดความมั่นคงในการทำงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้แก่แรงงานข้ามชาติ และที่สำคัญยิ่ง พวกเราทุกคนต้องตระหนักเสมอว่าไม่ว่าแรงงานข้ามชาติที่พวกเรามักเรียกว่าแรงงานต่างด้าว จะเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา เราจึงต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน
นายพิทักษ์ เกิดหอม อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
From : http://www.fpps.or.th
|