ปุจฉา-วิสัชนา
เรื่อง สิทธิมนุษยชน : สิทธิมนุษยชนกับการแก้ปัญหา ความรุนแรงในครอบครัว

ปุจฉา : สิทธิมนุษยชนไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร?

วิสัชนา : วิกฤติของประเทศไทยประการหนึ่งคือความรุนแรงกับเด็ก เยาวชน และสตรีในสังคมไทย ถึงขั้นเป็นความมั่นคงของชาติภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การใช้อาวุธปืนสังหารคนหน้าโรงพัก เป็นปรากฏการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกที่เกิดขึ้นในสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดถึงการที่เราต้องเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรอบด้านและโดยเร็วก่อนที่เราจะไม่มีอะไรเหลือให้ชื่นชม
ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าประเทศของเราไม่เคยละเอียดอ่อนและเอาจริงเอาจังกับเรื่องของความรุนแรงและการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และสตรี กลไกทางอุดมการณ์ที่ตอกย้ำความคิด ความเชื่อ ค่านิยมที่ไม่ถูกต้องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยตระหนักถึงการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามก็ทำหน้าที่ต่อไปหวังเพียงกำไร
การแก้วิกฤติความรุนแรงในสังคมไทย แนวทางหนึ่งคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ขนานใหญ่ ภายใต้วิธีคิดปรัชญาสิทธิมนุษยชน นั่นคือ ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย สันติภาพ ภราดรภาพ คือการเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
การตระหนักถึงความรัก ความเมตตาต่อกัน การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทั้งตามหลักศาสนาและหลักสิทธิมนุษยชนไม่แตกต่างกัน ปัญหาอยู่ที่เราจะสร้างความตระหนักเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น รัฐบาลต้องคิดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ในการกำหนดทิศทางประเทศมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ปฏิบัติในวิถีแห่งศาสนาและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ หากเราต้องการเห็นประเทศนี้น่าอยู่ ไม่มีทางใดอีกแล้วนอกจากประชาชนที่ตระหนักถึงความยุติธรรม ความเป็นธรรมและดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหตุด้วยผลเหนืออารมณ์ ต้องลุกขึ้นมาพูดและทำมากขึ้น

ปุจฉา : ปัจจุบันได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ควรจะแก้ไขหรือไม่?
วิสัชนา : ผมคิดว่าถ้ามองกันด้วยเนื้อหา หากไม่เลือกข้างหรือใช้อารมณ์ รัฐธรรมนูญปี 2550 ควรมีการแก้ไขให้อยู่ในหลักการเพิ่มอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ควรแก้ไขเรื่องการสรรหาองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะกระบวนการสรรหาให้ได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ฝากความหวังไว้กับคณะตุลาการไม่กี่ท่านเป็นผู้สรรหา ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกระบวนการสรรหากว้างขวาง และยึดโยงกับภาคประชาชนมากกว่า ซึ่งในการแก้ไขก็เพียงแต่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้นก็พอครับ

นายพิทักษ์ เกิดหอม
อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


From : http://www.fpps.or.th