
“ร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...” (ครั้งที่ 2)
สถาบันนโยบายศึกษา จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....” ซึ่งสถาบันฯ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 หลังจากจัดครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ทั้งนี้เพื่อนำความคิดเห็นจากที่ประชุมไปปรับปรุง แก้ไข ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักกฎหมาย นักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน นักการเมือง และสื่อมวลชน
 บรรยากาศการประชุมฯ
โดยประเด็นสำคัญในการประชุมระดมความคิดทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย ประกอบด้วย การบริหารจัดการองค์กร “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” การกำหนดหน้าที่และภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ การตรวจสอบการละเมิดสิทธิฯ การเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย โดยมี คุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้บริหารสถาบันนโยบายศึกษา และคุณสุพจน์ เวชมุข คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ผลัดกันแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อาทิเช่น
คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์) เสนอให้พิจารณาถึงสถานภาพขององค์กรที่เป็นองค์กรอื่นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 แต่สำนักงานมีความเป็นอิสระในการบริหารงาน และการงบประมาณ โดยเรื่องงบประมาณนั้น ควรเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ควรผ่านสำนักงบประมาณ ส่วนเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง คืออำนาจของคณะกรรมการสิทธิฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้ฟ้องแทนผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่ามีขอบเขตของอำนาจอย่างไร
คุณจันทิมา ธนาสว่างกุล (สำนักงานอัยการสูงสุด) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 น่าจะกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจของตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิฯ ฟ้องร้องคดีแทนผู้เสียหาย ทำให้สงสัยว่าจะทำได้มากแค่ไหน หรือว่าทำได้เพียงรวบรวมหลักฐาน ต้องดูว่าจะใช้ช่องทางไหนในแต่ละคดี ทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนได้หรือไม่ และในส่วนของมาตรา 34 ในเรื่องของกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิฯ และมิใช่เป็นประเด็นเดียวกับที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล น่าจะไปเพิ่มเติมให้ชัดเจนในมาตรา 36 ในเรื่องของกรณีที่คณะกรรมการอาจจะไม่รับพิจารณา หรืออาจยุติการพิจารณาคำร้องเรียน ถ้ายุติได้ในมาตรา 34 แล้ว จะได้ไม่ต้องไปเพิ่มเติมในมาตรา 36
คุณธนานุวัฒน์ แก้วพงศ์พันธุ์ (อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4) เสนอว่า ในเรื่องสถานะขององค์กรควรเป็นหน่วยงานแบบใดนั้น อยากให้ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่จะได้ไม่ทำซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องพิจารณาจากพันธกิจตามรัฐธรรมนูญว่า ให้มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง สถานภาพขององค์กรควรเป็นอิสระ โดยการบริหารจัดการอย่างไร แตกต่างจากองค์กรอื่นของรัฐอย่างไร จะได้กำหนดที่มาของบุคลากร และการบริหารจัดการได้เหมาะสม
คุณดนัย อนันติโย (สภาทนายความ) เสนอเรื่อง คำนิยามเจ้าหน้าที่คดีสิทธิมนุษยชนยังอธิบายไม่ชัดเจน ควรปรับให้ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของทนายความนั้น จะเป็นข้าราชการไม่ได้ ขัดต่อมาตรา 22 ที่ว่า ให้มีคณะกรรมการข้าราชการสิทธิมนุษยชน และขัดต่อ พ.ร.บ.สภาทนายความ อยากให้ตัดออก หรือไปนิยามใหม่ใส่เพิ่มไว้ในทนายความของกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือใส่คำว่า เคยเป็นทนายความ เพิ่มในคำนิยาม
คุณวีระศักดิ์ แสงสารพันธ์ (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน) เสนอว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนมีอะไรใหม่ เขียนเฉพาะสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ร่างกฎหมายผ่านได้ง่ายขึ้น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำในระดับใด ขอบเขตภารกิจไปไกลแค่ไหน จะกำหนดขอบเขตภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างไร อยากแนะนำให้เขียนให้สั้น จะทำให้กฎหมายผ่านได้ง่ายขึ้น เสนอว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ควรเป็นข้าราชการ
คุณพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ (สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) เสนอว่า สิ่งที่อยากเห็นในร่าง พ.ร.บ. นี้คือการสร้างกลไก ให้คณะกรรมการสิทธิฯ ไปเชื่อมโยงกับองค์กรหลักและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้กลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในกระบวนยุติธรรมที่มีอยู่ให้เกิดความคล่องตัวได้ ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องมีความชัดเจนในการแบ่งแยกอำนาจ ขอบเขตงาน และสถานะขององค์กรให้ถูกต้อง
พ.ต.อ. ประเวศน์ มูลประมุข (สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน) กล่าวว่า ยังไม่มีมาตราไหนที่บอกว่าการกระทำอะไรที่เป็นการละเมิด หรือทำผิดสิทธิมนุษยชน การตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเหมือนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรนี้ควรเป็นองค์กรแบบใด ควรเป็นองค์กรที่เป็นอิสระแบบใด ต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นการบริหารองค์กรอาจมีปัญหา
คุณไพโรจน์ แก้วมณี (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เสนอว่า มาตรา 52 ซ้อนกับมาตรา 46 ในเรื่องของบุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย อยากให้ไปปรับใหม่ เพราะมีคำว่า “อาจจะ” ทำให้ดูสับสน จะออกแบบอย่างไรไม่ให้ไปขัดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
คุณเสาวลักษณ์ อังคะวานิช (สำนักงานศาลปกครอง) เสนอว่า ในเรื่องผู้เสียหายเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดี ส่งเรื่องไปให้ศาลปกครองพิจารณา ร่างนี้ไม่มีในเรื่อง เมื่อไปถึงศาลแล้วใครเป็นผู้ฟ้องคดี และในส่วนของคำนิยามเจ้าหน้าที่สิทธิฯ พูดถึงเรื่องคุณสมบัติมากเกินไป
คุณชูเกียรติ รัตนชัยชาญ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) เสนอว่า สถานะของบุคลากร เมื่อจะเป็นองค์กรอิสระแล้ว ทำไมต้องยึดกรอบของข้าราชการ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ควรไปทบทวนอีกครั้ง
ท้ายสุดเมื่อได้แลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็น ข้อดีและข้อเสีย ของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... จากผู้เข้าร่วมสัมมนาแล้ว ทางคณะผู้ร่างก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
 Dr. Canan Atilgan ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และคุณนภาจรี จิวะนันทประวัติ
From : http://www.fpps.or.th
|