ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
กุมภาพันธ์ 2551 : ในหลวงทรงขอ ครม. ทำดีเพื่อชาติ –ประชาชน

  • ครม. สมัคร เข้าเฝ้าถวายสัตย์ ในหลวง “ขอ ครม. ทำเพื่อ ปชช. ด้วยความดีนั้น โก้ไม่หยอก”

  • “ทักษิณ” เดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกหลังรัฐประหาร ประกาศวางมือทางการเมือง
  • กกต. มีมติ 3:2 แจกใบแดง “ยงยุทธ” ข้อหาซื้อเสียง
  • ธปท. ยกเลิกสำรอง 30% ก.คลัง ออกพันธบัตร รายย่อย 1.2 หมื่นล้าน แก้บาทแข็ง
  • ครม. ตั้ง 5 บอร์ดขับเคลื่อนนโยบายรัฐ คาดใช้งบกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
  • ร่าง กม.สมัย สนช. ยังค้างสภาอีก 29 ฉบับ ถ้า 21 มี.ค. รัฐบาลใหม่ไม่ยืนยันถือว่าตกไป
  • คตส. สรุปคดี “กล้ายาง” ตั้งข้อกล่าวหา 45 ราย
  • สศช. ปรับจีดีพี ปีนี้เป็น 4.5-5.5% เน้นการส่งออก และการลงทุนในประเทศ
  • กฤษฎีกาตีความ ททท. ส่งคืนโบนัส ร่วม 150 ล้าน เหตุขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
  • ไทยพีบีเอส รับ พนง. แล้ว 760 คน ย้ำผลตอบรับน่าพอใจ
  • พ.ร.บ.ครู ฉบับแก้ไข ประกาศใช้แล้ว มีผล 21 ก.พ. 51
  • ตีกลับ 3 ร่าง “กม.องค์กรอิสระ” เหตุองค์ประชุม สนช. วาระ 1 ไม่ครบ

    ในหลวงทรงขอ ครม. ทำดีเพื่อ ปชช.

    ที่มา: โพสทูเดย์ 7 ก.พ. 51
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เนื่องในวโรกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ตอนหนึ่งว่า ขอให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งอาจจะทำยาก แต่เชื่อว่าจะต้องทำได้ เพื่อให้ประเทศชาติไม่ผิดหวัง

    "ถ้าทำด้วยความดีนั้น ที่จริงก็โก้ไม่หยอก รู้สึกโก้ดี ที่ทำเพื่อให้ประชาชนได้หวัง แล้วก็มองเห็นว่า นี่ขณะนี้เป็นรัฐมนตรีจะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เมื่อท่านได้ปฏิญาณว่าท่านจะทำเพื่อส่วนรวม ท่านก็มีเกียรติไม่น้อย ฉะนั้นก็ขอให้ท่านพยายามทำตามที่ท่านได้ปฏิญาณตน”

    สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีจำนวน 36 ตำแหน่ง ที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง มีดังนี้ คือ

    1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงศึกษาธิการ 2. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ 3. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง 4. นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกฯ 5. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ 6. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม

    7. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8. นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9. นายสมัคร สุนทรเวช รมว.กลาโหม (อีกตำแหน่ง) 10. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงการคลัง 11. ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง 12. นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ 13. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 14. นายสุธา ชันแสง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 15. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ 16. นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.เกษตรและสหกรณ์ 17. นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรและสหกรณ์

    18. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม 19. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม 20. นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม 21. นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 22. นายมั่น พัธโนทัย รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 23. พล.ท.(หญิง) พูนภิรมณ์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน 24. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ 25. พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ 26. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย 27. นายสุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย 28. นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รมช.มหาดไทย 29. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม 30. นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน

    31. นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม 32. นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 33. นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ 34. นายพงศกร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ 35. นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข 36. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข

    “ทักษิณ” กลับไทย ย้ำวางมือการเมือง

    ที่มา: มติชน 29 ก.พ. 50 หน้า 1
    พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พร้อมแถลงข่าวเปิดใจ กลับมาเพื่อล้างมลทิน กู้ชื่อเสียงที่ถูกทำลายอย่างไม่เป็นธรรม ย้ำไม่เล่นการเมือง บอกเสียใจถูกจับพิมพ์มือเป็นผู้ต้องหาสำคัญ

    ภายหลังจากถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ทำการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ระหว่างร่วมประชุมใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณได้เดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 5 เดือน

    มติ กกต. 3:2 แจกใบแดง “ยงยุทธ”

    ที่มา: มติชน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หน้า 1
    คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน มีมติด้วยคะแนนเสียง 3 : 2 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 ให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือให้ใบแดง พร้อมทั้งดำเนินคดีอาญานายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 1 พรรคพลังประชาชน (พปช.) และประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามสำนวนการสอบสวนของคณะอนุกรรมการที่มีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธาน และให้จัดเลือกตั้งใหม่หรือให้ใบเหลือง น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวนายยงยุทธ ที่เป็น ส.ส.เชียงราย เขต 3 พรรค พปช.

    หลังจากที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ทราบข่าวแล้ว เขาได้แถลงตอบโต้การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) โดยปฏิเสธว่าไม่ได้แจกเงินซื้อเสียง แต่เรื่องนี้มีไอ้โม่งบงการอยู่เบื้องหลัง เพื่อหวังยุบพรรค พปช.

    เลิกแล้ว 30% ผู้ว่าฯ ธปท. ยันตัดสินใจเอง

    ที่มา มติชน 1 มี.ค. 50 หน้า 1
    ธปท. ประกาศยกเลิก 30% มีผล 3 มีนาคม โดยกระทรวงการคลังเร่งจ่ายหนี้ ต่างประเทศในวันเดียวกันทันที 3 พันล้านดอลล์ล่า พร้อมออกพันธบัตรขาย ประชาชนรายย่อย 1.2 หมื่นล้าน

    เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอประกาศยกเลิกการบังคับใช้มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (มาตรการกันสำรอง 30%) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 เพื่อรองรับการบริหารจัดการการไหลเข้า-ออกของเงินทุน และป้องกันการเก็งกำไร

    ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ธปท. ได้จัดสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ออกมาตรการรองรับการยกเลิกมาตรการ 30% เช่น การเร่งแปลงหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เป็นสกุลบาท วงเงินรวม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ทันทีในวันที่ 3 มีนาคม เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชนรายย่อย 12,000 ล้านบาท อีกด้วย

    ครม. ตั้ง 5 บอร์ด ขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

    ที่มา: มติชน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
    ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 5 ชุด ทั้งนี้คณะกรรมการทั้ง 5 ชุด จะมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินตามโครงการดังกล่าวประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยเม็ดเงินดำเนินการจะมาจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ยืมจากต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership)

    คณะกรรมการ 5 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศและท่าอากาศยาน 2. คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน 3. คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน 4. คณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ และ 5. คณะกรรมการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    ร่าง กม. 29 ฉบับ ค้างสภารอ ครม. สมัคร ยืนยัน

    ที่มา INN News 17 กุมภพันธ์ 2551
    จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติบทบาทด้านการพิจารณากฎหมายตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังมีร่างกฎหมายอีก 29 ฉบับ ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาซึ่งหากรัฐบาลใหม่ไม่ยืนยันภายในวันที่ 21 มีนาคม ก็จะถือว่าตกไป

    รัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า กรณีที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภา ภายหลังมีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบด้วย

    เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดสุดท้าย ได้มีการสรุปว่า สนช. ได้ประชุมรวมทั้งสิ้น 95 ครั้ง แบ่งเป็นการทำหน้าที่ สนช. 93 ครั้ง การทำหน้าที่ ส.ว. 2 ครั้ง รวมทั้งหมด 513 ชั่วโมง 37 นาที ผ่าน พ.ร.บ. 218 ฉบับ พ.ร.ก. 1 ฉบับ กระทู้ถามสด 48 กระทู้ กระทู้ถามทั่วไป 43 กระทู้ และมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 100 เรื่อง

    คตส. สรุปคดี “กล้ายาง”

    ที่มา มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 5
    คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติให้ตั้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น จำนวน 45 ราย

    โดยที่ประชุม คตส. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ให้ตั้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ จำนวน 45 ราย จากจำนวนผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในชั้นการตรวจสอบ 90 ราย โดยจะให้อนุกรรมการทำสำนวนส่งอัยการฟ้องร้องภายใน 14 วัน

    สศช. ปรับจีดีพี ปีนี้เป็น 4.5-5.5%

    ที่มา: มติชน 26 กุมภาพันธ์ 2551
    ในปี 2551 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็น 4.5-5.5% สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม 4-5% โดยพิจารณาจากปัจจัยหลัก คือ การส่งออกและการลงทุนในประเทศจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

    ทั้งนี้ สศช. ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2550 และแนวโน้มปี 2551 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4/2550 ขยายตัวได้สูงถึง 5.7% สูงกว่าทั้งสามไตรมาสก่อนหน้าที่เฉลี่ยแล้วขยายตัว 4.4% ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีที่ผ่านมาขยายตัว 4.8% สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 4.5%

    จากการประเมินข้อมูลจีดีพีในแต่ละช่วงสะท้อนให้เห็นเศรษฐกิจขยายตัวในจุดต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 1 และหลังจากนั้นได้เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ที่ทั้งการส่งออกสุทธิยังขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลยังเป็นไปตามเป้าหมาย จึงเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในปี 2551 ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

    สั่ง “ททท.” คืนโบนัสย้อนหลัง 3 ปี

    ที่มา: มติชน วันที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
    คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ททท. ต้องส่งคืนโบนัสย้อนตั้งแต่ปี 2546-2548 ร่วม 150 ล้านบาทคืนกระทรวงคลัง เหตุขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ด้านผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ ยอมรับเข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อน ครม. อนุมัติเป็นพิเศษให้แค่ปี 2545 แต่ปีถัดมาบอร์ดตีขลุมสั่งจ่ายต่อเนื่อง

    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นยืนตามกระทรวงการคลังที่เสนอให้ ททท.(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) นำเงินโบนัสที่จ่ายให้พนักงาน ททท. ระหว่างปี 2546-2548 รวมระยะเวลา 3 ปี มูลค่าเกือบ 150 ล้านบาท คิดเป็นโบนัสปีละ 2 เดือน หรือปีละเกือบ 50 ล้านบาท กลับคืนกระทรวงการคลังทั้งหมด เนื่องจากการจ่ายโบนัสในช่วงดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

    ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ระบุไว้ว่า คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ดรัฐวิสาหกิจ) มีอำนาจสั่งจ่ายและกำหนดสภาพการจ้าง ให้แก่พนักงานในสังกัดได้เอง แต่ไม่สามารถกำหนดจ่ายค่าตอบแทนผลงานซึ่งหมายถึงโบนัสได้ ดังนั้น จึงถือว่ามติคณะกรรมการ ททท. ที่เห็นชอบให้มีการจ่ายค่าตอบแทนผลงานระหว่างปี 2546-2548 ไม่ชอบตามกฎหมาย และต้องส่งกลับคืนกระทรวงการคลัง ปัจจุบัน ททท. มีพนักงานประจำที่มีสิทธิได้รับโบนัสดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 950 คน โดยก่อนหน้าปี 2545 ททท. ไม่เคยมีการให้โบนัสแก่พนักงาน เนื่องจากเป็นองค์กรหรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร

    ไทยพีบีเอส รับ พนง. แล้ว 760 คน

    ที่มา มติชน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551
    นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แจ้งว่า ขณะนี้ไทยพีบีเอสรับพนักงานไว้แล้ว 760 คน ในจำนวนนั้นมี น.ส.นาตยา แวววีรคุปต์ อดีตกบฏทีไอทีวี เป็นหัวหน้าข่าวฝ่ายสังคมและชุมชน นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวการเมือง นายบุตรรัตน์ บุตรพรหม เป็นหัวหน้าข่าวสืบสวนสอบสวน และนายไชยรัตน์ ถมยา เป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศ

    สำหรับการทดลองออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมานั้น ได้ผลตอบรับที่น่าพอใจมาก โดยสารคดีช่วงค่ำที่แพร่ภาพเวลาเดียวกับละคร บางวันมีเรตติ้งถึง 2.5 ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ส่วนผังรายการที่จะเริ่มแพร่ภาพตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ น่าจะเสร็จวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยจะมีรายการข่าว รายการครอบครัว และรายการสำหรับชุมชนเพิ่มเข้ามา

    พ.ร.บ.ครู ฉบับแก้ไข ประกาศใช้แล้ว

    ที่มา: มติชน 26 กุมภาพันธ์ 2551
    เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งสาระสำคัญใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ฉบับใหม่นี้ อาทิ มีการแก้ไขจำนวนกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จากเดิม 21 คน เป็น 28 คน

    เพิ่มอำนาจ ก.ค.ศ.ให้ยับยั้งการปฏิบัติการไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ส่วนราชการ หน่วยงานการศึกษา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ คณะอนุกรรมการ หรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ไม่ได้ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง

    ทั้งนี้ กรรมการ ก.ค.ศ. และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนครบวาระ โดยในส่วนของกรรมการที่เพิ่มเติมใหม่จะดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดขึ้นใหม่ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ และจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ก.ค.ศ. และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ชุดเดิม

    ตุลาการรัฐธรรมนูญตีกลับ 3 ร่าง “กม.องค์กรอิสระ”

    ที่มา: มติชน 26 กุมภาพันธ์ 2551
    ที่ประชุมคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ วินิจฉัยให้ส่งกลับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ มาให้สภานิติบัญญัติพิจารณาใหม่ เนื่องจากเหตุผลว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะองค์ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126

    ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ได้แก่ หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... สอง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. .... และ สาม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ....

    อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระนั้นๆ มีสิทธิที่จะเสนอกฎหมายเข้ามาใหม่ หรืออาจเป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะพิจารณาส่งก็ได้

    From : http://www.fpps.or.th


  •