
เรื่อง สิทธิมนุษยชน : สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (สิทธิเสรีภาพของมนุษย์บนผืนแผ่นดินไทย)
ปุจฉา : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเป็นการรับรองสิทธิเฉพาะชนชาวไทยหรือสำหรับทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย?
วิสัชนา : โดยหลักสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นสากล หมายความว่า สำหรับคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครในโลกนี้ ซึ่งหลักการพื้นฐานนั้นได้เขียนไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมีกฎหมายระหว่างประเทศที่พูดถึงเนื้อหาสิทธิต่างๆไว้สองฉบับ คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองฉบับนี้ประเทศไทยได้รับรองแล้ว รวมตลอดทั้งอนุสัญญาต่างๆ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในแนวนโยบายด้านการต่างประเทศ มาตรา 82 ดังนี้ “รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ”
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราอ่านเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 4ซึ่งได้วางหลักทั่วไปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพ เอาไว้ว่า”การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลที่ปฏิญญาสากลหรืออนุสัญญาแห่งองค์การสหประชาชาติให้การรับรอง และประเทศไทยร่วมเป็นภาคี เป็นสิทิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ เช่น คนต่างด้าว คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ ชนกลุ่มน้อย ในฐานะที่เป็นมนุษย์และอาศัยอยู่ในราชอาราจักรไทยไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร ย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับชนชาวไทย เพียงแต่บุคคลดังกล่าวจะกล่าวอ้างสิทธิตามกฏหมายทำนองเดียวกับชนชาวไทยมิได้”
มีแนวโน้มว่านักกฎหมายและหน่วยงานราชการจะใช้มุมมองว่าสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญตั้งแต่มาตรา 26-69 นั้นเฉพาะชนชาวไทยเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าควรจะพิจารณาจากเนื้อหามากกว่า เช่น สิทธิในชีวิต เมื่อใดที่คนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกฆ่า ผู้กระทำต้องได้รับโทษตามกฎหมายซึ่งเป็นการรับรองสิทธิของคนต่างด้าวด้วยเช่นเดียวกัน แต่มีแน้วโน้มว่าเมื่อคนต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายหรือศาลพิพากษาว่ามิได้เป็นผู้กระทำความผิด จะไม่ได้รับการเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งสิทธินี้คนต่างด้าวควรได้รับเช่นเดียวกับคนไทย เช่นเดียวกัน คนไทยที่ไปทำงานในประเทศต่างๆ ก็ควรได้รับสิทธินี้เช่นกัน
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นสิทธิมนุษยชนควรเป็นของคนทุกคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพ ต้องเข้าถึงแก่นแกนของสิทธิมนุษยชน และยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะมิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงตัวหนังสือที่ไร้ชีวิตชีวาที่หาค่ามิได้
From : http://www.fpps.or.th
|