กิจกรรม (Thai)
นโยบายพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง วันที่ 23 ธันวาคม 2550

“สถาบันนโยบายศึกษา ร่วมกับสถาบันสาธารณกิจ มูลนิธิประชาการ และมูลนิธิพิทักษ์รักษ์แผ่นดิน เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาชี้แจงนโยบายของพรรค และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้ประชาชนทราบ และยังเปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2550 เวลา 14.30 ถึง 16.30 ณ ห้องเพชรไพลิน โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ

ตัวแทนพรรคการเมืองขึ้นเวที
เพื่อชี้แจงนโยบายของพรรค


ตัวแทน 7 พรรคการเมืองได้เข้าร่วมชี้แจงสรุปได้ดังนี้ คือ


ดร.มานะ มหาสุวีระชัย
พรรคประชาราช
ดร.มานะ มหาสุวีระชัย มาในนามพรรคประชาราช กล่าวว่า ที่จริงแล้วทุกรัฐบาลในอดีตมีนโยบายเหมือนกัน อนาคตก็คงจะเหมือนเดิมคือใช้นโยบายเสรีนิยมแบบมีการจัดการ เพราะนโยบายเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่ผู้บริหารประเทศจะต้องนำไปประยุกต์กับเงื่อนไขอื่นที่หลากหลาย ซับซ้อน นโยบายพรรคจึงพูดง่ายกว่าทำ ที่สำคัญกว่านโยบายคือผู้บริหารประเทศ พรรคประชาราชสนใจจะผลักดันโครงการที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เช่น เรื่องระบบขนส่ง เป็นต้น ท้ายที่สุดได้กล่าวว่า โครงการที่ฉาวโฉ่เพราะผู้บริหารประเทศไม่โกงก็โง่ ในเมื่อไม่มีใครยอมรับว่าตนเองโกง ประชาชนจึงควรเลือกคนไม่โง่และกล้าตัดสินใจมาบริหารประเทศ



ดร.จิรายุ วสุรัตน์
พรรคเพื่อแผ่นดิน
ดร.จิรายุ วสุรัตน์ จากพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคมีนโยบายสมานฉันท์ ยุติความขัดแย้งเพื่อสร้างชาติร่วมกัน ปากท้องประชาชนสำคัญที่สุด จึงต้องทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพี (Gross Domestic Product) ขยายตัวร้อยละ 5 ถึง 7 ต่อปีให้ได้ ซึ่งพรรคเชื่อว่าสามารถทำได้โดย 1) การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน 2) รัฐลงทุนในโครงการต่างๆ เอง 3) รัฐเปลี่ยนแปลงกติกาต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุน 4) ตั้งงบประมาณแบบขาดดุลร้อยละ 3 ของจีดีพี 4) ออกพันธบัตรเงินกู้สำหรับโครงการนำร่องต่างๆ 5) จัดการเรื่องน้ำ ทำระบบชลประทานครบรูปแบบ 6) พัฒนาระบบขนส่ง ผังเมือง และสาธารณูปโภคไปพร้อมกัน 7) พัฒนาการขนส่งระบบราง จัดทำรางรถไฟคู่ โดยอาจให้เอกชนดำเนินการ โดยยืนยันว่าไม่ใช่การแปรรูปหรือขาย รฟท. แต่จะต้องเพิ่มรายได้ 8) แก้กติกาไม่ให้เงินบาทผูกยึดกับสกุลเงินดอลลาร์ และ 9) ส่งเสริมให้มีการลงทุนให้มากที่สุด



คุณดิษฐ์อัชพณ สูตรสุคนธ์
พรรคมัชฌิมาธิปไตย
ดิษฐ์อัชพณ สูตรสุคนธ์ กรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า จะเลือกทางสายกลางและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างงาน สร้างอาชีพ โดยทำโครงการเก่าให้ดีขึ้นและดำเนินโครงการใหม่ๆ เช่น ส่งเสริมให้ทุกตำบลผลิตกระแสไฟฟ้าเองตำบลละ 1 เมกะวัตต์ ยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็นนิติบุคคล ตั้งกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร จัดตั้งยุ้งฉางกลาง ส่งเสริมอุตสาหกรรมจากวัตถุดิบข้าว สร้างเกษตรกรรมพลังงานส่งเสริมเชื้อเพลิง E20 ดูแลเรื่องค่าจ้างแรงงานให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ให้รัฐบาลเป็นเจ้าของระบบขนส่งมวลชนและลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาทตลอดสาย พัฒนาตำรวจบ้าน เป็นต้น



คุณนพดล ปัทมะ
พรรคพลังประชาชน
นพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า จะสนับสนุนให้มีวาระแห่งชาติเรื่องปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ และยังมีนโยบาย 3 ป. คือ ปรองดอง ประชาธิปไตย (แก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่อง เช่น ที่มาวุฒิสมาชิก และการเลือกตั้ง) และปากท้อง (ฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านเมกะโปรเจ็ค โครงการพัฒนาน้ำ รถไฟฟ้า ระบบขนส่ง ฯลฯ) เรื่องเคหะจะสร้างบ้านให้บัณฑิตจบใหม่ บ้านตามเส้นทางรถไฟฟ้า และบ้านราชการในที่ราชพัสดุ การกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าจะสานนโยบายเดิม เช่น ทำกองทุนหมู่บ้านให้เป็นธนาคารหมู่บ้าน พัฒนา SML ธนาคารประชาชน SME และ OTOP ทำโครงการโค (ตัวเมีย) ล้านตัว ออกโฉนดและเอกสารสิทธิที่ดิน จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่งเสริมพลังงานเชื้อเพลิงเอธานอล ทำโครงการแรงงานบินก่อนผ่อนทีหลัง โครงการบัตรประชาชนรักษาทุกโรค เรียนฟรี 12 ปีมีชุดนักเรียนและตำราพร้อม ยกคุณภาพการศึกษา สานต่อสถาบัน TCDC ฟื้นอุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และให้คนจนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกคน



คุณนิกร จำนง
พรรคชาติไทย
นิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า พรรคยึดแนวปฏิบัตินิยม เน้นการทำมากกว่าพูด นโยบายต้องทำได้จริง เป็นไปได้ และเป็นธรรม โดยการพัฒนา 3 ระดับ คือ บุคคล ชุมชน และชาติ ดังนี้
พัฒนาคนที่การศึกษา สุขภาพ สถานพยาบาล รายได้ โดยให้เกษตรกรและคนจนปลอดหนี้ มีสวัสดิการให้คนพิการ คนชรา
พัฒนาชุมชนให้มีถนนลาดยางทั่วประเทศ ทำระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ทั้งรางและล้อ
พัฒนาชาติสร้างสามัคคีปรองดอง หาพลังงานทดแทนแบบยั่งยืน ตั้งกระทรวงพัฒนาทรัพยากรน้ำ



ดร.เกษมสันต์ วีระกุล
พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ดร.เกษมสันต์ วีระกุล รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นักการเมืองใหม่ถอดด้ามอายุ 22 วัน กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจวันนี้เหมือน 20 ปีที่แล้ว จึงต้องแก้ที่การจัดการ แต่ที่สำคัญกว่า คือ ปัญหาการเมืองและสังคม หากแก้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ ประเทศไทยต้องสร้างความสามารถในการแข่งขัน นโยบายทุกพรรคเหมือนกันหมด ใครมาเป็นรัฐบาลต้องทำต่อ ไม่ใช่เปลี่ยนไปมา จึงควรมีนโยบายร่วมให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ไม่ว่าพรรคใดมาเป็นรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายตาม แต่ให้เน้นที่วิธีจัดการทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าร้อยละ 4 ต่อปีให้ได้ โดยระยะสั้นจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษี SME และภาษีเงินบำนาญ ระยะยาวจะลงทุนในเมกะโปรเจ็ค ด้านการเมืองจะให้ข้อมูลสมบูรณ์แก่ประชาชน ดำเนินนโยบายปรองดอง ยุติความขัดแย้งทุกอย่างหลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม



คุณจุลินทร์ ลักษณวิศิษฐ์
พรรคประชาธิปัตย์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคนำความเห็นประชาชนไปกำหนดนโยบาย ดังนั้นนโยบายของพรรคจึงให้ความสำคัญประชาชนเป็นอันดับแรก การเมืองจะต้องโปร่งใส สุจริต จัดการเรื่องทุจริต กระจายอำนาจ มีส่วนร่วม ให้มีกลไกประชาชนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมายประชาพิจารณ์และการลงประชามติ ให้มีที่ปรึกษากฎหมายภาคประชาชน ให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายถอดถอนผู้บริหารที่มาจากการเมืองได้
เรื่องกระจายอำนาจ ให้จัดสรรเงินรายได้ร้อยละ 35 แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ธุรกิจตั้งในท้องถิ่นต้องเสียภาษีให้ท้องถิ่น ทำประชาพิจารณ์เพื่อยกฐานะองค์กรปกครองท้องถิ่นที่พร้อมให้ปกครองตนเองเช่นเดียวกับ กทม. เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 15 ปี (อนุบาลถึงมัธยม) เพิ่มเงินต่อหัวเพื่อรักษาฟรีทุกคน เป็น 1,200 บาทต่อคนต่อปี รวมทั้งใช้บริการคลินิคได้ จ่ายเบี้ยเลี้ยงชีพคนชรา 500 บาทต่อหัวต่อเดือน
เศรษฐกิจชนบท จะขยายพื้นที่ชลประทานอย่างน้อย 1 เท่าตัว ตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลละ 1 ล้านบาทภายใน 90 วัน ประกันภัยพืชผล ลดเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และให้ทุกครัวเรือนใช้ไฟฟ้าฟรี 15 หน่วยแรก
เศรษฐกิจระดับบน พัฒนาการขนส่ง ทำถนน 4 เลน รถไฟรางคู่ ท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ปรับปรุงสนามบิน ลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 25 ใน 4 ปี
ปัญหาภาคใต้ ตั้งสำนักงานแก้ไขปัญหาชายแดน ใช้ยุทธการ พัฒนาเศรษฐกิจและวิถีชีวิตอิสลาม
หลังจากนั้นถึงคราวผู้สื่อข่าวซักถาม นโยบายที่ได้รับความสนใจมากคือเรื่องเรียนฟรี ซึ่งอยากรู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ทั้งพลังประชาชนและประชาธิปัตย์มีตัวเลขค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน คือ ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำมาจากงบประมาณประจำปี ที่จริงแล้วทั้งผู้สื่อข่าวและผู้เข้าสัมมนาสนใจในคำถามว่าจะนำเงินมาจากไหนเพื่อใช้จ่ายในนโยบายประชานิยม ที่ทุกพรรคดูเหมือนจะมีคล้ายคลึงกัน แต่พลังประชาชนตอบชัดเจนที่สุดว่า จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งการส่งเสริมให้ไทยเป็น Medical Hub ส่วนรวมใจไทยชาติพัฒนามีแนวคิดที่ต่างออกไปคือ จะทำงบประมาณแบบขาดดุลและลดอัตราภาษีเพื่อให้เก็บภาษีได้มากขึ้น



ผู้เข้าร่วมงานมีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง ผู้ที่สนใจทั่วไป และสื่อมวลชน


ท้ายที่สุด ดร.สมศักดิ์ ชูโต ผู้ดำเนินการสัมมนา ได้สรุปว่า นโยบายทุกพรรคล้วนดีทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญคือทางพรรคได้เคยถามประชาชนหรือไม่ว่าคนไทยต้องการอะไร การกำหนดนโยบายตามความคิดของตนเองอาจจะผิดพลาด เพราะสังคมไทยพัฒนามาไกลแล้ว เวลานี้คนไทยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง (ที่อยากจะรวย) นโยบายประชานิยมจึงอาจจะสนองความต้องการไม่ตรงนัก เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการคุณภาพของการบริการ ที่จริงแล้วคนไทยปรับตัวเก่ง บ้านเมืองวิกฤตแต่ไปรอดเพราะคนไทยปรับตัวได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่พรรคการเมืองควรทำให้ประเทศชาติคือการทำให้การเมืองนิ่ง ไม่ปั่นป่วน หากทำได้รับรองว่านโยบายอะไรก็ไม่สำคัญ


คณะผู้จัดงานถ่ายภาพร่วมกับตัวแทนจากพรรค


From : http://www.fpps.or.th