
เรื่อง สิทธิมนุษยชน : สสร. ควรแปรญัตติเรื่องใดในหมวดสิทธิและเสรีภาพ
ปุจฉาที่ 1 : ร่างรัฐธรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นในหมวดสิทธิและเสรีภาพดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือไม่ ?
วิสัชนาที่ 1: ในภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพนั้น นับได้ว่าไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะดีกว่าเดิม แม้ว่ารูปแบบการเขียนจะจัดเป็นหมวดหมู่ทำให้อ่านได้ง่าย และตัด “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกไปทั้งหมด แต่มีประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอยู่หลายประการ
การเขียนส่วนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างกระชับในเฉพาะสาระสำคัญนั้นดี แต่อย่างไรก็ตาม อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ หรือจะเกิดข้อถกเถียงกันตามมาในบรรดานักกฎหมายว่า เมื่อเขียนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งต่างจากเดิมที่เขียนไว้ในหมวดศาล หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 รับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเฉพาะชนชาวไทยใช่หรือไม่ ถึงแม้ว่าผมจะเชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างคงไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่เมื่อเขียนไว้อย่างนี้จะทำให้เกิดปัญหาและอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า มาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประเทศเราลดลง ตัวอย่างเช่น หากคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยและถูกทำร้ายร่างกายย่อมเป็นผู้เสียหาย เมื่อเป็นผู้เสียหาย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บอกว่า เมื่อเป็นผู้เสียหายรัฐต้องเยียวยา แต่ในฉบับร่างในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับการเยียวยาหรือมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบสำหรับมนุษย์ที่มิใช่ชนชาวไทย
ปัญหานี้ผมคิดว่าเพื่อมิให้เกิดข้อถกเถียงกันในอนาคต มีสองแนวทาง คือ ตัดคำว่า “ชนชาวไทย”ออก หรือโยกส่วนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไปอยู่ในหมวดศาลเช่นเดิม
ประเด็นที่สอง การที่คงเนื้อหากำหนดว่าการลงโทษประหารชีวิตมิใช่เป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ตามมาตรา 32 วรรคสองนั้น ขัดทั้งหลักความเป็นจริง คือ การลงโทษประหารชีวิตเป็นวิธีการที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมไม่ว่าจะด้วยการตัดคอ ใช้ปืนยิง หรือฉีดยาก็ตาม ขัดทั้งหลักศาสนาพุทธในศีลข้อห้าเรื่องห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในเรื่องนี้แตกต่างกับประเด็นที่ว่า สังคมไทยควรมีโทษประหารหรือไม่ ซึ่งสังคมไทยคงต้องถกเถียงกันต่อไป ฉะนั้น ในประเด็นนี้หวังว่าจะมีการแปรญัตติเพื่อให้ตัดออกเสีย
สุดท้าย ในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม ถึงแม้ว่าไม่ได้แตะต้องในเรื่องนี้แต่ก็เป็นข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้เขียนข้อยกเว้นไว้ เพราะเสรีภาพในการชุมนุม การแสดงความเห็นโดยการชุมนุมต้องเป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์ รัฐจะเข้ามาจำกัดเสรีภาพนั้นมิได้ การที่เขียนไว้ว่า “การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้พื้นที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก” ซึ่งข้อยกเว้นนี้มักจะเป็นข้ออ้างของผู้มีอำนาจรัฐเพื่อจำกัดสิทธิอยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย จึงควรที่จะตัดข้อความในส่วนนี้
ปุจฉาที่ 2 : ผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร?
วิสัชนาที่ 2 : ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาอย่างไร สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าผลของการลงประชามติคือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และรับรองสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ และต้องทำในทุกวิถีทางที่จะให้ประชาชนรู้ในเนื้อหารัฐธรรมนูญ มากเสียกว่าพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ เพราะหากมุ่งหวังเช่นนั้น กระบวนการและวิธีการจะกลายเป็นการบังคับ-กะเกณฑ์ประชาชนให้มาลงประชามติ จนหลงลืมให้ความสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ประชาชนสูญเสียไปจะไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย.
พิทักษ์ เกิดหอม อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4 ในคณะกรรมการสิทธิมนุษย ชนแห่งชาติ
From : http://www.fpps.or.th
|