ปุจฉา-วิสัชนา
เรื่องสิทธิมนุษยชน : การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไรที่ทำให้ประชาสามัญชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ?

ปุจฉาที่ 1: การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไรที่ทำให้ประชาสามัญชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ?

วิสัชนาที่ 1: กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 17 กำลังเริ่มขึ้น ผมคิดว่าประชาสามัญชนประกอบด้วย กรรมกร ชาวนาชาวไร่ เกษตรกร ชาวชุมชนแออัด และคนยากคนจน รวมทั้งปัญญาชนกลุ่มดังกล่าวทั้งหลาย สิ่งที่ต้องชัดเจนในเป้าหมาย คือ การจัดสรรอำนาจในรัฐธรรมนูญต้องกระจายอำนาจให้กับประชาสามัญชน และลดอำนาจทั้งของนายทุนและข้าราชการลง เพราะอดีตบอกเราว่าไม่ว่าจะเป็นทหารหรือนายทุน ประชาสามัญชนก็ยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกข์ทนกับปัญหาเฉกเช่นเดิม อาทิ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่เกิดจากโครงการของรัฐ ฯลฯ อดีตได้บอกเราว่าทั้งทหาร นายทุนและข้าราชการได้ผลัดเปลี่ยนกันมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ประโยชน์ก็ตกกับคนกลุ่มดังกล่าวเป็นหลัก

ประเทศไทยให้อำนาจกับนายทุนและข้าราชการมายาวนาน ถึงเวลาแล้วที่ต้อง กระจายอำนาจทุกภาคส่วนลงถึงประชาชนอย่างแท้จริง อาทิ เมื่อจะมีโครงการก่อสร้างโครงการของรัฐต้องรับฟังประชามติของประชาชน ภายใต้กระบวนการประชามติที่ต้องไม่บิดเบี้ยวโดยต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการให้สิทธิในการเลือกทิศทางการพัฒนาตำบล อำเภอ จังหวัด หรือชีวิตของตนเองอย่างอิสระอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเลือกการพัฒนาไปสู่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ การพัฒนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือการพัฒนาแบบทางสายกลางในมิติอื่นๆ ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระ และลดกระแสการครอบงำจากส่วนกลางลง

ต้องเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ 2540 ที่ได้วางหลักการมีส่วนร่วมที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. ร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากร 2. ร่วมตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ 3. มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

การมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนในเรื่องต่างๆ ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับเดิม มาตรา 46 ได้รับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่โดยข้อเท็จจริงยังไม่มีการเขียนกฎหมายมารองรับแต่อย่างใด มาตรา 59 ที่รับรองสิทธิบุคคลร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้สำคัญมาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนให้ชัดว่าจะให้อำนาจของประชาชนในการ ตัดสินใจเรื่องอะไรบ้าง อย่างไร ดังนั้นต้องยืนยันและเพิ่มสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่ม องค์กรประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก และต้องคงไว้ในส่วนที่เหมาะสมอยู่แล้วและปรับแก้บางส่วนเท่านั้น อาทิ ส่วนที่ต้องคงไว้ คือ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 8 ศาล หมวด 9 การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ปุจฉาที่ 2: ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไร?

วิสัชนาที่ 2: เวลานี้มีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วแล้วถึงจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามการจัดทำรัฐธรรมนูญในครั้งนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนคงจะน้อยกว่าเดิมมาก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นภายใต้ข้อเรียกร้องของสังคมภายหลังเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จึงเกิดสิ่งใหม่ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้จำนวนมาก แต่ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การรัฐประหาร บทเรียนและประสบการณ์จึงแตกต่างกันมาก

ดังนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมและข้อเสนอของตนเองที่ชัดเจน การมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาของประชาชนเท่านั้น ที่จะแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกระดับ

นายพิทักษ์ เกิดหอม
อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 4
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


From : http://www.fpps.or.th