ติดตามประชาธิปไตย (Thai)
พฤศจิกายน 2549 : นโยบายชาติ ปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจพอเพียง

นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล 5 ประการ ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิก สนช. หลายคนได้วิพากษ์แสดงความเห็น

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลกำลังเตรียมการยกร่างการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง โดยจะมีเป้าหมายในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยตามมิติใหม่ทางการเมือง

รมว. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิด 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม

ครม. เห็นชอบให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

คมช. ออกสมุดปกขาวชี้แจงเหตุ คปค. ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

ครม. ให้เลื่อนการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่ท้องถิ่นร้อยละ 35 ออกไปก่อน โดยให้จ่ายไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 25

โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเมือง (เอสเอ็มแอล) ยังจะได้รับการจัดสรรเงินจำนวน 9 พันล้านบาทให้ เพื่อดำเนินการต่อไป

ศาลปกครองรับคำร้องกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกทำผิดที่แปรรูป อสมท. และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

กระทรวงมหาดไทยเสนอเพิ่มเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นคนละ 500 บาทต่อเดือน

ปฏิรูปการเมือง-ยึดเศรษฐกิจพอเพียง

นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ได้แถลงนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล 5 ประการ ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า
  1. จะปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  2. จะยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาเศรษฐกิจ
  3. จะมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งที่คนในชาติอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานคุณธรรม
  4. จะมุ่งมั่นส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ เสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ
  5. จะส่งเสริมการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภาคสังคมและวิชาการ เพื่อการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่องในยามปกติ


ตั้ง 2 รมช. เพิ่ม

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นำรัฐมนตรี 2 นาย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งใหม่ ได้แก่ นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

สภาพัฒนาการเมือง

ขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมการยกร่างการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง โดยจะมีเป้าหมายในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยตามมิติใหม่ทางการเมืองที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ กำหนดบทบาท หน้าที่ องค์ประกอบ รวมทั้งกรอบกว้างๆ ของแผนแม่บทพัฒนาการเมือง ซึ่งต้องยึดโยงสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยคณะกรรมการเตรียมการยกร่างจะมีจำนวน 19 คน มีนายสุจิต บุญบงการ สนช. เป็นประธาน กรรมการส่วนใหญ่เน้นนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชนและภาคราชการ

เมื่อแล้วเสร็จจะมีการทำประชาพิจารณ์ และจะนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ

ยุทธศาสตร์พัฒนาสังคม

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคม 3 ประการ คือ
  1. ยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน โดยการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ ในทุกตำบลในการดูแลผู้ด้อยโอกาส และผู้ถูกทอดทิ้งในตำบลของตนเอง
  2. ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง โดยส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวขององค์กรชุมชน ประชาสังคม และองค์กรท้องถิ่น
  3. ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม โดยทำให้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของคนในสังคม ทำให้ความดีความงามอยู่ทั้งในความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติเป็นปกติ


นอกจากนี้ยังมีนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงอีก 4 ประการ ที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันไป คือ
  1. การสร้างสมานฉันท์ โดยรณรงค์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งให้ อบต. และชุมชนช่วยกันดูแลผู้ด้อยโอกาส มีคลินิกยุติธรรมจังหวัด การร่วมสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เป็นต้น
  2. การร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนา 3 จังหวัดภาคใต้ โดยร่วมกับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และหน่วยงานในกระทรวงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นในแต่ละท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาโดยชุมชนเอง
  3. การร่วมกันฟื้นฟูพัฒนาชุมชนที่ได้รับภัยพิบัติน้ำท่วม ทั้ง 46 จังหวัด เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด
  4. การสร้างสังคมคุณธรรม เริ่มจากกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด โดยรณรงค์ให้เป็นหน่วยงานที่ซื่อสัตย์ ใสสะอาด มีจิตอาสาทำความดี


ยกเลิกกฎอัยการศึก ใน 41 จังหวัด

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ที่มีสาระห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

สมุดปกขาว แจงเหตุล้ม ''ทักษิณ''

สำนักงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าปฏิรูปการปกครองประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 (สมุดปกขาว) เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนได้รับข้อเท็จจริง ในการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จำนวน 35 หน้า มีสาระสำคัญสรุปถึงเหตุการณ์ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาที่เป็นชนวนอันนำไปสู่การปฏิรูป ว่ามาจากเหตุผลสำคัญ 5 ประการ คือ

1. การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือให้เป็นภาษีสรรพสามิต การแปลงธุรกิจดาวเทียมให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิและเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่โปร่งใส การครอบงำโทรทัศน์เสรี เป็นต้น

2. การใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น แต่งตั้งเครือญาติและคนใกล้ชิดเป็นข้าราชการระดับสูง ใช้งบประมาณโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาเพื่อผลประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยม ใช้ตำแหน่งไปเจรจาต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ใช้อำนาจทางกฎหมายของ ป.ป.ช. ปปง. และกรมสรรพากร ไปตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

3. ละเมิดจริยธรรม คุณธรรมของผู้นำประเทศ เช่น การขายสัมปทานดาวเทียมและสถานีโทรทัศน์ให้ต่างชาติ การซื้อขายหุ้นของคนในครอบครัวโดยไม่เสียภาษี

4. แทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เช่น การครอบงำวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระต่างๆ และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร การแทรกแซงการแต่งตั้ง กกต. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

5. ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น กรณีฆ่าตัดตอนในนโยบายปราบปรามยาเสพติด นโยบายที่ผิดพลาดและความไม่ชอบธรรมในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

6. บ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง มีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกลุ่มตรวจสอบรัฐบาล มีการจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนเพื่อตอบโต้ และหวังให้เกิดการเผชิญหน้า

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะทหารต้องตัดสินใจปฏิวัติ ก็คือ การพูดจาพาดพิงจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

เลื่อนจ่ายท้องถิ่น 35 % ออกไปก่อน

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ให้แก้ไข พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในมาตรา 30(4) ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนหรือรายได้ร้อยละ 35 ในปี 2549 โดยให้แก้ไขใหม่เป็นโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ร้อยละ 35 ต่อไป แต่ไม่กำหนดปีที่จะจัดสรรงบฯ ดังกล่าวลงไป แต่อย่างน้อย อปท. จะได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25

เดินหน้านโยบายเอสเอ็มแอล

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน สำนักงบประมาณได้ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2550 โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเมือง (เอสเอ็มแอล) จะได้รับการจัดสรรเงินจำนวน 9 พันล้านบาทให้ เพื่อดำเนินการต่อไป

ศาลปกครองรับฟ้องคดีถอนแปรรูป “อสมท.”

ศาลปกครองกลางได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ให้รับคำร้องของ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) นางรัชนี แมนเมธี ประธานชมรมมือสะอาด และนายวฤทธ์ ชินสาย เลขาธิการชมรมมือสะอาด ที่ร่วมกันยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตคณะรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ในข้อกล่าวหาว่ามีความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่มีมติให้แปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์

เสนอเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้ ครม. ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากคนละ 300 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 500 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจะได้ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2550 ในวงเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

From : http://www.fpps.or.th