กิจกรรม (Thai)
บทสรุปการสนทนา เรื่อง “รัฐธรรมนูญ... ปฏิรูปการเมืองยุคหลังรัฐบาลทักษิณ”


คณะผู้จัดงานถ่ายภาพร่วมกัน
การสนทนา เรื่อง “รัฐธรรมนูญ... ปฏิรูปการเมืองยุคหลังรัฐบาลทักษิณ” ซึ่งร่วมกันจัดโดยศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ภาคีมวลชนคนโคราชรักประชาธิปไตย และสถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2549 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา



อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล
โดยมี อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล และอาจารย์เธียรชัย ณ นคร กล่าวนำการสนทนา เรื่อง ทิศทางรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชาชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและเสนอแนะสาระสำคัญ โดยที่ประชาชนแต่ละกลุ่มควรที่จะได้รวมตัวกันเพื่อจัดทำข้อมูลและหาช่องทางเสนอสู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

อาจารย์เธียรชัย ณ นคร


ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นให้ร่วมกันพิจารณาที่พอสรุปได้ดังนี้ คือ

1. ประเด็นนโยบายพรรคการเมือง การขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่รัฐบาลบริหารประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่มีนโยบายของพรรคเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ในทางความเป็นจริงก็มีนโยบายหรือแนวทางของชาติที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้วางแผนไว้แล้วทุก 5 ปี ซึ่งมีคำถามที่น่าสนใจว่า เราจะใช้แผนหรือนโยบายอะไรกันแน่ ควรจะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือนโยบายพรรคการเมืองเป็นเรื่องหลักของรัฐบาล

2. ประเด็นการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรให้การเมืองเรื่องเลือกตั้งเป็นเรื่องของโอกาสที่จะได้คนดีเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งมากขึ้น โดยที่คนที่เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง ควรจะเป็นคนที่สั่งสมประสบการณ์และทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มากกว่าที่จะได้นักการเมืองที่เข้าสู่ระบบการเลือกตั้งแบบเฉพาะกาลเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แล้วละเลยผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นควรมีวิธีการคัดสรรคนเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งแบบใหม่ ทำอย่างไรให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ เติบโต และเรียนรู้งานในชุมชนท้องถิ่นอย่างดีมาเป็นเวลานาน มีผลงานต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์จนกระทั่งสามารถเข้าสู่การคัดเลือกในพรรคการเมืองและในกระบวนการเลือกตั้งระดับชาติได้ อันจะเป็นการนำคนจากท้องถิ่นเข้าไปแก้ปัญหาของท้องถิ่นในระดับชาติอย่างเข้าถึงและเข้าใจ ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหญ่ๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น คนในท้องถิ่นไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือยับยั้งได้ทัน เพราะผู้ตัดสินนโยบายไม่ได้อยู่ในท้องถิ่น และไม่เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้านพอ

3. เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ประชุมเสนอให้รัฐบาลกลางหรือส่วนกลางทำหน้าที่อำนวยการและสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นอย่างจริงใจ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเอง ทั้งโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น การพัฒนการศึกษา สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเป็นการคิดริเริ่มและตัดสินใจได้ด้วยท้องถิ่นเอง ไม่ใช่การพัฒนาทั้งหมดถูกกำหนดโดยนโยบายและโดยการตัดสินใจจากส่วนกลาง เมื่อท้องถิ่นไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ ขณะเดียวกันในส่วนท้องถิ่นเองก็ยอมรับว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการปกครองท้องถิ่นยังมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ แม้ในสภาท้องถิ่นเองก็ยังน้อยเกินไป การตรวจสอบต้องมาจากคนในท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่ใช่ส่วนกลางส่งคนมาประเมินและตรวจสอบเช่นที่เป็นอยู่

4. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชุมเสนอให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นตัวตั้ง แล้วค่อยศึกษาประเด็นที่เป็นปัญหาในรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข จะทำให้ใช้เวลาไม่มาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐสภา ระบบรัฐสภา การสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน และคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีรายละเอียดที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา จึงควรจัดการศึกษาและจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมสู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ


ผู้เข้าร่วมการประชุม
และสุดท้าย ที่ประชุมได้มีการหารือทิศทางการทำงานของกลุ่มที่มารวมตัวกันวันนี้ เพื่อกำหนดการทำงานร่วมกัน ที่ประชุมได้มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนให้มีการเมืองภาคประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษา ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์และความรับผิดชอบของประชาชนต่อการเมืองของประเทศให้มากขึ้น โดยที่จะได้มีการกำหนดวันเพื่อสนทนาในครั้งต่อไปอีกครั้งหนึ่ง


From : http://www.fpps.or.th