กิจกรรม (Thai)
ระดมสมองกันที่ปัตตานี ถึงวิถีทางสร้างสมานฉันท์

หนึ่งในข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ยื่นให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือการจัดให้มีสานเสวนาเพื่อความสมานฉันท์ระหว่างบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และอาชีพ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยปณิธานที่จะสานต่อวิถีทางสมานฉันท์ผ่านการสานเสวนานี้ สถาบันนโยบายศึกษาจึงได้จัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในทางสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเชิญนักวิชาการ ข้าราชการ ทหาร ผู้พิพากษา ทนายความ ครู ผู้นำศาสนาอิสลาม ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน ตลอดจนนักศึกษาทั่วไป ให้มาประชุมกันที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ระหว่างเวลา 09.30 ถึง 15.30 น.

เรากำหนดหัวข้อเอาไว้ถึงสามเรื่องด้วยกัน คือ นโยบายการศึกษา นโยบายการกระจายอำนาจและกระบวนการยุติธรรม โดยจะเริ่มจากข้อเสนอแนะของ กอส. ในเรื่องนั้น ๆ แต่โดยข้อจำกัดเรื่องเวลา ในขณะที่ผู้เข้าประชุมทั้ง 52 ยังมีเรื่องจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกมาก ในที่สุดเมื่อบ่ายคล้อยจึงได้ตกลงกันว่าวันนี้จะพูดเพียงเรื่องนโยบายการศึกษาเรื่องเดียว อีกสองเรื่องนั้นขอเก็บไปไว้ครั้งหน้า และข้อเสนอในวันนั้น ก็คือ เรื่องต่อไปที่อยากจะให้มีการระดมสมองกันก็คือเรื่องการกระจายอำนาจนี่แหละ ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้น เรามีทั้งผู้พิพากษาและทนายความมาร่วม ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้ให้ความเห็นจากประสบการณ์จริงในพื้นที่ ทำให้ผู้เข้าประชุมได้ตระหนักถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของปัญหาความไม่สงบ


ผู้เข้าสัมมนากำลังลงทะเบียน

ผู้ช่วยอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเปิดการสัมมนา


83 ปีผ่านไป บริบทยังคงเดิม


ผศ.ปิยะ กิจถาวร รักษาการคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ก่อนที่จะเปิดให้มีการระดมสมอง ผศ.ปิยะ กิจถาวร รักษาการคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ปูพื้นถึงแนวทางการแก้ปัญหาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ว่า

แนวทางการแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้นั้น จะต้องเน้นที่คนดี คือส่งข้าราชการที่เป็นคนดี “มีความสุขุมเยือกเย็น รู้จักการได้การเสีย รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว โดยรอบคอบ ประกอบด้วยองค์เป็นผู้ใหญ่” ไปเป็นผู้ปกครอง


83 ปีให้หลัง กอส. เสนอเรื่องเดียวกันว่า “ให้ความสำคัญในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมมากขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขรองรับการก่อความรุนแรง ขณะเดียวกันก็เรียกศรัทธาต่อระบบยุติธรรมของผู้คนในพื้นที่ให้กลับคืนมา...”

อีกข้อที่เจ้าพระยายมราชเสนอไว้ คือ

“เอาใจใส่ศึกษาถึงการสาสนาแลลัทธิประเพณี จำเป็นต้องรู้ภาษาพูดจาติดต่อกันได้ มิฉะนั้นย่อมเปนการลำบากในทางบังคับบัญชาแลสมาคมกับหมู่ชน”

กอส. ก็เสนอไว้เช่นกันว่า “ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศ”และ “ประกาศให้ภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาทำงาน (working language) เพิ่มเติมอีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

เห็นหรือยังว่า 83 ปีผ่านไป แต่บริบทของปัญหาและการแก้ปัญหายังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือระบบการเมืองการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และนโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามผู้นำแต่ละยุคสมัยต่างหาก


บรรยากาศในการสัมมนาระดมสมอง

นักศึกษาเข้าร่วมฟังและนำเสนอข้อคิดเห็น


เสียงจากประชาชนคนธรรมดา

อ.ปิยะ อ้างคำพูดของคุณสะมะแอ เจะมะ ประธานกลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะและเครื่องแต่งกายมุสลิมจังหวัดปัตตานีว่า
“ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว แต่สะสมมาจนระเบิดขึ้นในปีนี้ ปัญหาความยากจน ผลทำให้เกิดอคติกับคนรวย ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ผลทำให้ชาวบ้านน้อยใจว่าเป็นประชาชนชั้นสองของประเทศ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ปัญหาความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลายหลาก รู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน”

นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้านธรรมดาที่เข้าใจในสาเหตุแห่งปัญหา และได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา เพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายจะตระหนัก ยอมรับและลงมือปฏิบัติตามหรือไม่

คุณประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบาโงยชิแน แม้มาสามารถอยู่ร่วมสัมมนาได้ทั้งวัน แต่ก็ฝากข้อเสนอแนะด้านวัฒนธรรมเอาไว้ว่า รัฐต้องป้องกันไม่ให้เด็กไทยที่นับถือศาสนาต่างกันเกิดความเหินห่าง แตกแยกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ กับเด็กที่นับถือศาสนาอิสลามเชื้อสายมลายู


ผศ.ภิญโญ ตันพิทยคุปต์
อ.ภิญโญ ตันพิทยคุปต์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมสาศตร์ มหาวิทยาลัยทักษิน มาจากสงขลา เล่าให้ฟังว่า ที่มหาวิทยาลัยมีโครงการค่ายที่นำเด็กพุทธและมุสลิมจำนวนเท่าๆ กันมาทำกิจกรรมและเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ตลอดเวลา 2 วัน 2 คืนที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันนั้น ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษา เด็กพุทธก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมมุสลิม เด็กมุสลิมก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมพุทธ เด็กทุกคนเข้าใจว่าถึงจะแตกต่างแต่ก็เป็นเพื่อนกันได้ อยู่ร่วมกันได้ และต่อไปภายหน้าก็สามารถจะรู้รักสามัคคีกันได้

รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด เล่าประสบการณ์ว่า แม้นโยบายจะบอกให้แตกต่างกันได้ แต่บางครั้งเมื่อลงมาถึงระดับปฏิบัติกลับถูกเพิกเฉย เช่น เรื่องการยอมให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาเบื้องต้นได้ระดับเด็กเล็กที่ไม่รู้ภาษาไทยเลย แต่ผู้ปฏิบัติระดับสูงไม่ยอมและบอกว่าต้องใช้แต่ภาษาไทยเท่านั้น ผลก็คือเด็กเรียนไม่ได้

รศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวด


การศึกษานำไปสู่การยังชีพในอนาคต

ประชาชนในชนบทในสามจังหวัดภาคใต้จำนวนมากนิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนปอเนาะ

“ปอเนาะ” คืออะไร ขออ้างโครงการวิจัยของ ดร.เลิศชาย ศิริชัย แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า ปอเนาะคือสถาบันหลักทางสังคมที่อยู่คู่กับสังคมมุสลิมมาช้านาน หน้าที่สำคัญคือสอนศาสนาอิสลาม สำหรับเตรียมคนออกไปอยู่ในสังคมในฐานะอิสลามิกที่ดีและสมาชิกที่ดีของสังคม โต๊ะครูหรือผู้สอนเป็นเจ้าของโรงเรียนปอเนาะ เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในหลักศาสนา โรงเรียนเป็นแบบเรียบง่าย ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่ที่พัก นักเรียนเตรียมอาหารมาหุงหากินเอง

เราเคยมองย้อนกลับไปหรือไม่ว่า ในอดีตรัฐมีนโยบายการศึกษาอย่างไร เหตุใดมุสลิมจึงเลือกที่จะเรียนปอเนาะแทนโรงเรียนของรัฐ เพราะปัญหาเริ่มต้นที่เมื่อจบจากปอเนาะแล้วไม่สามารถจะเทียบหรือเข้าเรียนต่อระดับสูงในสถาบันการศึกษาในประเทศหรือหางานทำได้ นักเรียนที่มีไฟเหล่านั้นจึงต้องหาทางไปเรียนต่อในประเทศมุสลิม เมื่อจบมาแล้วก็ยังไม่สามารถจะหางานทำเช่นผู้ที่จบปริญญาในประเทศได้ ทางเดียวที่เหลือคือการเปิดโรงเรียนปอเนาะเพิ่มมากขึ้น

อ.วรวิทย์ กล่าวว่า คนเรียนมาทางศาสนามีความเสียสละ เป็นที่เคารพของสังคม แต่กลับมาแล้วไม่มีงานอาชีพที่เหมาะสม แถมยังอาจจะถูกทางการขึ้นบัญชีดำ พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นเว้นแต่การขยายปอเนาะและตาฎีกา

อาจารย์เสนอว่า รัฐควรจะมีหนทางให้ต่อยอดเมื่อจบจากโรงเรียนศาสนาหรือปอเนาะแล้ว ซึ่งเรื่องนี้คุณวรยุทธจากวิทยาลัยอิสลามก็เรียกร้องให้มีหลักสูตรอิสลามศึกษาในทุกๆ ระดับชั้นเพื่อที่จบมาแล้วจะสามารถสื่อสารกับคนในจังหวัดอื่นๆ ได้ การศึกษาในระบบจะต้องเกื้อหนุนการศึกษานอกระบบ ต้องทำให้ภาษาและวัฒนธรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา รอยต่อระหว่างการศึกษาในระดับต่างๆ เช่น ประถม มัธยม อุดมศึกษาคือข้อต่อสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถจะออกไปประกอบอาชีพได้ หากการเรียนการสอนในภาษามลายูได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐ คนที่จบแล้วจะสามารถไปหางานทำในประเทศที่ใช้ภาษามลายู เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไนได้ จะทำให้แก้ปัญหาการว่างงานใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่ตลาดแรงงานมีขนาดเล็กได้

การแก้ปัญหาการศึกษาจะป้องกันปัญหาการว่างงานและส่งเสริมอาชีพในอนาคตได้

ปอเนาะภาครัฐกับปอเนาะเอกชน



คุณนิมุคตาร์ วาบา
คุณนิมุคตาร์ วาบา เล่าให้ฟังว่า นับแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ภาคเอกชนใน 3 จังหวัดภาคใต้เริ่มพัฒนาโรงเรียนปอเนาะเดิมที่สอนแต่ศาสนามาสอนวิชาสามัญด้วยอย่างเต็มรูปแบบ ขณะนี้ในจังหวัดปัตตานีมีโรงเรียนประเภทนี้ที่เรียกว่า “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” ถึง 60 แห่ง มีผู้เรียนจบออกไปมากมาย แต่ไม่นานมานี้โรงเรียนของรัฐเริ่มเปิดการสอนศาสนาด้วยโดยทำเป็นโรงเรียนนำร่อง เกรงว่าต่อไปจะเกิดการแข่งขันแย่งผู้เรียนกันระหว่างโรงเรียนของรัฐกับเอกชน มีคำถามว่า นโยบายนี้ถูกหรือผิด และหากโรงเรียนรัฐจะสอนศาสนาอิสลามด้วยก็อยากให้เน้นที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ


บทสรุปภาคเช้า

ก่อนหมดเวลาภาคเช้า อ.ปิยะ ได้สรุปผลการสัมมนาว่า รัฐจะต้องคงความหลากหลายทางการศึกษาเอาไว้ บทบาทภาครัฐคือการดูแลคุณภาพและมาตรฐาน และใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น ภาษาและการเรียนรู้เป็นมิติทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตตลักษณ์ที่จะต้องคงความเป็นสากลเอาไว้ ในขณะที่สามารถสนองตอบท้องถิ่นได้ มีความหลากหลายและการศึกษาคือรากฐานของวิชาชีพในอนาคต

เราจะแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้หากยังมีความยากจนในหมู่ประชาชน

เราจะแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้หากประชาชนไม่มีการศึกษาที่จะนำไปสู่การงานอาชีพได้

ฟังดูเริ่มจะเข้าเค้าแล้วว่าที่จริงปัญหาเกิดจากสามเรื่อง ความยากจน การศึกษา และอาชีพ แต่ว่าจะเริ่มต้นแก้ที่ตรงไหนในเมื่อทั้งสามเรื่องต่อเนื่องกันเหมือนงูกินหาง

เสียงจากนักศึกษา

พวกผู้ใหญ่พูดกันมาตลอดเช้าแล้วยังไม่สามารถจะหาจุดเริ่มของการแก้ไขปัญหาได้ นักศึกษาหนุ่มน้อยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้พวกผู้ใหญ่ฟังบ้าง เขาเล่าว่า เคยเรียนมาแล้วทั้งโรงเรียนสายสามัญและตาฎีกา เรียนหนักมาก 7 วันต่อสัปดาห์ไม่มีวันหยุดพักผ่อน เรียนภาษาอาหรับด้วย แต่จนวันนี้ก็ยังพูดไม่ได้

เขาให้ความเห็นว่าการเรียนที่หนักหนานี้ทำให้เด็กๆ ท้อจึงขี้เกียจที่จะเรียนให้จบทั้งสายสามัญและปอเนาะ เมื่อไม่จบสายสามัญก็เรียนต่อสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ แต่ถ้าจะเรียนสายสามัญเพียงอย่างเดียวก็จะถูกมองว่าเรียนแต่เรื่อง “ไทยๆ” พ่อแม่ไม่สนับสนุน อีกทั้งเด็กที่จบการศึกษาระดับเทคนิค อาชีวะ หรือแม้แต่อุดมศึกษาไปแล้วก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี รับวัฒนธรรมไทย (หรือตะวันตกก็ไม่รู้) ไปใช้ที่บ้าน ผู้ปกครองจึงไม่นิยมให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนสามัญ

ข้อคิดจากนักศึกษา คือ ปัญหาสามารถแก้ไขได้ที่ระดับบุคคลหากผู้เรียนยอมรับสภาพการเรียนที่หนัก มีความประพฤติดี ยึดมั่นประเพณีและวัฒนธรรม จะเรียนในโรงเรียนปอเนาะหรือสายสามัญก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

เสียงจากนักศึกษา


ปัญหาที่ตัวบุคคล

ผู้พิพากษาเล่าให้ฟังว่า จากการสืบค้นเหตุจูงใจของผู้ต้องหา พบว่า นักเรียนปอเนาะถูกเพิกเฉยละเลยไม่ได้รับการดูแลเกิดช่องว่างระหว่างรัฐและประชาชน เมื่อมีผู้ไม่หวังดีมาดูแลโอบอุ้มจึงคล้อยตามง่ายมาก ผู้ต้องหาเล่าว่าถูกสอนให้มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐล้วนเลว ฆ่าได้ไม่ผิด และยังถูกสอนผิดๆ ว่าการฆ่าคือจีฮัดในหลักศาสนาอีกด้วย

อีกปัญหาร้ายแรงคือยาเสพติด ผู้กระทำผิดเสพยาบ้าเพราะเชื่อผิด ๆ ว่าเสพยาบ้าได้ไม่ขัดหลักศาสนา ความไม่รู้ทั้งหลายกลายเป็นปัญหา จึงเสนอทางแก้ว่าต้องให้คนรู้กฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ช่วยแก้ไขปัญหา สร้างแนวคิดการศึกษาให้สมดุล เรื่องของภาษาไทยหรือยาวีไม่ใช่ปัญหาใหม่ หากแนวการศึกษาถูกต้องจะแก้ปัญหาระยะยาวได้

นานาทัศนะ

คุณอับดุลอาซิส รองประธานอิสลามจังหวัดนราธิวาสค้านว่า ปอเนาะดีๆ ยังมีมาก การแก้ปัญหา 2 มิติ คือ วัฒนธรรมกับภาษาสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องระดับปฏิบัติที่ต้องไปในทางเดียวกัน ข้อเสนอ คือ ต้องแก้ไข 3 เรื่องพร้อมๆ กัน คือ การศึกษา อาชีพ และการให้ความยุติธรรม

คุณสามารถ ทองเผือ จากมหาวิทยาลัยอิสลามปัตตานี ตั้งคำถามว่า รัฐไม่ต้องการให้คน 3 จังหวัดภาคใต้ฉลาดหรือจึงไม่ส่งเสริมปอเนาะ และยังมีข้อเสนอว่าไม่ต้องการให้คนนอกมาเป็นครูสอนในสามจังหวัดเพราะเกรงว่าจะเลือกปฏิบัติและให้สิ่งผิด


ดร.จรัญ มะลูลีม
ดร.จรัญ มะลูลีม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีนักศึกษาไทยหลายพันคนกำลังเรียนในมหาวิทยาลัยไคโร และอีกหลายร้อยคนเรียนที่ซูดาน นักศึกษาจากประเทศเหล่านี้เมื่อจบกลับมาไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากภาครัฐ ทางแก้คือต้องรวมตัวกันเป็นชมรมเพื่อเรียกร้อง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประชาชนชั้นสองในสังคม อีกประการ มหาวิทยาลัยอิสลามในประเทศไทยต้องสนับสนุนให้ไทยพุทธมาเรียนด้วย จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสองศาสนา



ส่วนตัวแทนภาคประชาชนคุณมูหามะสุกรี มะสะนิง จากสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นโยบายภาครัฐเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้อวนรุนอวนลากกอบโกยทรัพยากรในทะเล ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประมงพื้นบ้าน แต่ชาวประมงรายเล็กไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีปัญหาในชุมชนที่ลูกหลานไม่สนใจวิถีชีวิตดั้งเดิม สื่อทีวีมีอิทธิพลมาก และปัญหาการทำกินทำให้ต้องไปหางานทำที่มาเลเซีย

วิถีทางสู่ความสมานฉันท์

การสัมมนากินเวลาเกือบ 6 ชั่วโมง ยังมีข้อเสนออีกมากมาย หลายคนยังไม่ได้พูด แต่เมื่อเวลาบ่ายคล้อย ผู้เข้าร่วมหลายคนมาจากที่ไกลต้องรีบเดินทางกลับ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิมต่างก็ตกอยู่ในสถานการณ์ภัยใต้ด้วยกันทั้งนั้น หากไม่มีความสมานฉันท์ เมื่อใดไฟใต้จึงจะดับ

อ.ปิยะ กิจถาวร สรุปข้อเสนอแนะจากการสัมมนาในครั้งนี้ว่า สาเหตุดั้งเดิมของปัญหาคือการที่สามจังหวัดภาคใต้ถูกละเลยไม่ได้รับการดูแล เรื่องการศึกษาที่พูดกันมาทั้งวันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ต้องการการโอบอุ้มดูแลจากภาครัฐ การโอบอุ้มไม่ได้หมายความถึงการจัดส่งงบประมาณเงินทองมาอย่างเดียว แต่รวมถึงความเคารพในความหลากหลายในการจัดการศึกษาในพื้นที่ รัฐควรดูแลเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ กระจายโอกาสทางการศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการและวิถีอาชีพ

การจัดการศึกษาเพื่อสังคมที่จะต้องแยกบุคคลออกจากสถาบัน สามจังหวัดภาคใต้มีมิติทางวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างหลากหลายที่คนในสังคมจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน หากมีระบบเทียบโอนความรู้ เทียบวิทยฐานะ เพื่อผู้ที่จบการศึกษาจากระบบที่แตกต่างจะได้มีโอกาสในอาชีพ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทำงานสอดคล้องกับนโยบาย ....ความสมานฉันท์ในสามจังหวัดจะเกิดขึ้นได้

From : http://www.fpps.or.th