ปุจฉา-วิสัชนา
เรื่องสิทธิมนุษยชน : สิทธิมนุษยชนกับกระบวนการยุติธรรม (ตอนที่ 1)

ปุจฉาที่ 1 : สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้าง?

วิสัชนาที่ 1 : สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่สังคมและประเทศต่างๆ ยึดถือ แต่จะมีผลในทางปฏิบัติหรือเป็นจริงได้อย่างน้อยก็จะต้องตราเป็นกฎหมายทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายภายใน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และระเบียบข้อบังคับให้มีการเคารพ ค้ำประกันสิทธิมนุษยชนประการต่างๆ

กระบวนการยุติธรรม หมายถึงกลไกและกระบวนการ หรือขั้นตอนที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติและจัดการข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นของคนในสังคม เพื่อสร้างให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมและรวมถึงการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการนำเอาหลักการและบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาใช้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีการกำหนดให้มีการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่สุดฉบับหนึ่ง และได้กำหนดหลักการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไว้หลายประการที่สำคัญด้วยกัน ดังนี้
  • การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคล (มาตรา 4)
  • การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 26)
  • หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ย่อมผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมาย (มาตรา 27)
  • บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ สามารถหยิบยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ (มาตรา 30)
  • การคุ้มครองสิทธิของบุคคลตามกฎหมายต้องเท่าเทียมกัน ห้ามเลือกปฏิบัติ (มาตรา 30)
นอกจากมาตราต่างๆ ข้างต้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังได้คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา จำเลย และผู้ต้องโทษทางคดีอาญาไว้หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ การห้ามทรมาน ทารุณ การลงโทษ ด้วยวิธีการโหดร้าย การให้พิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด (ตามมาตรา 31-มาตรา 33) และให้มีกระบวนการในการจับกุม การคุมขัง การค้น การประกันตัว การสอบสวนที่รวดเร็วและต่อเนื่อง และรัฐมีหน้าที่จัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาและจำเลยคดีอาญา (ตามมาตรา 237-243) สิทธิในการคุ้มครองพยานในคดีอาญา (มาตรา 244) และมีการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่จะได้รับการตอบแทนและชดเชยค่าเสียหาย (มาตรา 245) รวมทั้ง การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา จำเลยที่เป็นผู้บริสุทธิ์และพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จะได้รับค่าทดแทน การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (มาตรา 246 -247)


ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

From : http://www.fpps.or.th