
การพัฒนาการเมืองกับการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชน
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมโลกและสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางและหลาย ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยแต่ละด้านได้ส่งผลกระทบถึงกัน เชื่อมโยงกันตลอดเวลา กล่าวสำหรับด้านการเมืองนั้น ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อสังคมมนุษย์เพราะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันและนัยดังกล่าวส่งผลไปถึงการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างคนในสังคมด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาการเมือง เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาทางการเมือง หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำระหว่างองค์ประกอบทางการเมืองซึ่งการกระทำนี้ก่อให้เกิดผลเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมๆ ไปสู่สิ่งใหม่ๆ และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ต้องดีกว่าเดิม ในการพัฒนาการเมืองนั้น ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องกระทำร่วมกัน ได้แก่
1. ประชาชน และกลุ่มของประชาชน
2. สังคมการเมือง
3. หลักการหรือระเบียบ (รัฐธรรมนูญ)
4. กลไกหรือเครื่องมือของรัฐ
5. สังคมเศรษฐกิจ หมายถึงระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบเสรี
ในบรรดาองค์ประกอบทั้ง 5 นี้ ประชาชนและกลุ่มของประชาชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางการเมืองที่สุด ทั้งนี้เพราะประชาชนภายในรัฐจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎ กติกาทางการเมืองหรือรัฐธรรมนูญได้
ดังนั้น ในการพัฒนาทางการเมืองจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเบื้องต้นต่อประชาชนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการเมือง (political culture) วัฒนธรรมทางการเมืองในที่นี้หมายถึงการกระทำร่วมกันของประชาชนที่เห็นเป็นพฤติกรรมร่วมกันอย่างชัดเจน
การจะสร้างระบบความเชื่อร่วมกันจนเกิดความเห็นสาธารณะร่วมกันต่อประเด็นทางการเมืองได้นั้น จะต้องสร้างระบบการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ระบบการเรียนรู้เป็นกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม (socialization) ให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต้องการขึ้นมา
วัฒนธรรมทางการเมืองที่ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองของไทย คือ วัฒนธรรมที่นำไปสู่การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง (political stability) เพราะเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาทางการเมืองซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนานคือการสร้างความเป็นประชาธิปไตย (democratization)
การพัฒนาทางการเมืองของไทยที่ควรจะดำเนินเป็นเบื้องแรกคือการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งควรประกอบด้วย 2 แผนแม่บทสำคัญ คือ
1. แผนเค้าโครงหรือแม่บทเกี่ยวกับการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในทุกมิติ เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง การดูแลตรวจสอบสถาบันทางการเมือง การดูแลตรวจสอบระบบราชการ ฯลฯ
2. แผนเค้าโครงวิธีการหล่อหลอมทางสังคมเพื่อให้เกิดการนำแผนต่างๆ ตามที่จะมีขึ้นไปสู่การปฏิบัติ (implementation) ให้เกิดผล
การจะพัฒนาทางการเมืองจึงควรเริ่มต้นด้วยการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยโดยการให้การศึกษาและการพัฒนาทักษะการสร้างวัฒนธรรมนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน (civic education) แล้วจึงนำไปสู่การพัฒนาในมิติอื่นๆ เพื่อการพัฒนาการเมืองต่อไป
พื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาการเมืองไทยบรรลุเป้าหมายก็คือ การที่ประชาชนในชาติมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักและมีจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตย ยึดถือหลักประชาธิปไตยเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต หรือมีวิถีชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งการไปสู่จุดหมายดังกล่าวนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจและหันมาร่วมกันดำเนินกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมการให้การศึกษาทางการเมืองและประชาชน
ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ออกแบบให้มีส่วนสำคัญหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมือง จึงมักมีการยกย่องกันมากว่าเป็นรัฐธรรมนูญของการปฏิรูปการเมืองการปกครองไทยยุคใหม่ ซึ่งสิ่งที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้นั้นปัจจุบันนี้ก็มีหลายสิ่งหลายประการที่มีการลงมือทำไปแล้ว เห็นผลแล้ว เช่น การจัดองค์ประกอบรัฐบาลให้แยกจากฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. การมีองค์กรอิสระ การมีสภาที่ปรึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าแต่ละส่วนนั้นได้สร้างกระบวนการเรียนรู้วิถีชีวิตทางการเมืองแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อย เรื่อง “การพัฒนาการเมือง” รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 77 ให้รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างการเมืองให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและสังคมไทยให้ยั่งยืน มีสันติสุขสถาพร
ดังนั้นจะเห็นว่า “การพัฒนาการเมือง” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องจัดทำแผนขึ้น แม้ว่าปัจจุบันแผนพัฒนาการเมืองยังไม่มีรูปร่างชัดเจน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เนื้อหาของการพัฒนาการเมืองปรากฏอยู่หลายที่ ทั้งจากที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อสภาเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งในรูปของหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา หรือแม้แต่เนื้อหาของนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ กำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย ตลอดจนการมีหลักสูตรให้การศึกษาทางการเมืองแก่สมาชิกพรรค รวมถึงการให้ข่าวสารข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับความรู้ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ในหลายๆ โอกาสโดยผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น
การจัดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองจะทำอย่างไร กลุ่มเป้าหมายใด ผ่านกลไกอะไรบ้าง
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญของการให้การศึกษาด้านสิทธิและหน้าที่พลเมือง ศีลธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังค่านิยมและเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแก่เยาวชน ซึ่งเป็นการให้การศึกษาทางการเมืองที่เป็นทั้งรูปแบบการให้ความรู้ความเข้าใจหรือการเรียนรู้จากการรับรู้ (cognitive domain) และการให้การศึกษาทางการเมืองกับประชาชน ทั้งปัจเจกชน กลุ่มและองค์กรของประชาชน ซึ่งการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง คือ (experience domain) ทั้งสองด้านนี้ หากพิจารณาจำแนกส่วนประกอบที่สำคัญและจำเป็นในการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนแล้ว จะมีอยู่ 3 ด้าน1 คือ
1. ด้านการอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความรับผิดชอบทางสังคม ศีลธรรม และจริยธรรม ซึ่งเป็นรากฐานเบื้องต้นของการเป็นพลเมืองที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตย คือ มีความเชื่อมั่นและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความประพฤติและพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม มีความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นและต่อสังคมโดยรวมอย่างเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เคารพกติกาของสังคมในรูปของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ซึ่งการให้การศึกษาส่วนนี้จะต้องมีทั้งส่วนที่เป็นสารัตถะ และส่วนที่เป็นทักษะ ซึ่งต้องให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่ควบคู่กันไป โดยมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ที่เข้าถึง และเข้าใจคุณค่าและมีทัศนคติในด้านบวก
2. ด้านการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมเพื่อกล่อมเกลาปัจเจกชนไม่แปลกแยกจากการเมือง ไม่เบื่อหน่ายหรือหนีการเมือง เน้นกระบวนการสร้างพลเมืองดี ก็คือ คนที่ไม่ดูดาย เพิกเฉยต่อสังคมและปัญหาต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พลเมืองดีจะเป็นผู้ที่เข้าใจและตระหนักในวิถีประชาธิปไตย มีบุคลิกภาพที่เกื้อกูลการพัฒนาการเมือง คือเรียนรู้และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม มีทักษะบริการสังคม พลเมืองดี (good citizen) คือ ผู้ที่มีีความตื่นตัวที่พร้อมรับรู้และมีปฏิกิริยาต่อปัญหาต่างๆ เร็ว และมีจิตใจสาธารณะที่จะวิเคราะห์ แสดงออกทางความคิดเห็นที่ให้กับสังคม อาทิ มีความตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม และเชื่อว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้ทางการเมืองสู่วิถีประชาธิปไตยนั้น จะทำให้คนในสังคมลุกขึ้นมาควบคุมประเด็นในสังคมเอง มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหรือกลไกของรัฐและพรรคการเมืองเพียงฝ่ายเดียว
3. ด้านการมีความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง ประเด็นและปัญหา ตลอดจนการดำเนินงานของระบอบประชาธิปไตย การที่พลเมืองสามารถมีอิทธิพลต่อการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและระดับชาติ
องค์ประกอบดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อเตรียมการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ไม่เฉพาะในด้านการมีความรู้ทางการเมืองหรือ political literacy เท่านั้น แต่หากรวมถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ทางการเมือง หรือเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชนที่จะทำให้ประชาชนมีทักษะ ความรู้ และทัศนคติที่จำเป็นเพื่อให้ตนเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพต่อการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ หรือ political mind / political awareness ด้วย
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยนั้น ไม่จำกัดอยู่ที่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง คือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงานของพรรคการเมือง และการการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองก็ไม่ใช่การออกแบบหลักสูตรให้กับองค์กรดังกล่าว แต่เป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มาจากปรากฏการณ์ทางการเมือง ประเด็นปัญหาสาธารณะ จากประสบการณ์และชีวิตจริง
ข้อสรุปจากประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชน
ประเทศไทย ปัจจุบันมีองค์กรหลายภาคส่วนของสังคมที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง ประกอบด้วย สถาบันการศึกษา สถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง สื่อมวลชน องค์กรภาครัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงองค์กรอาสาสมัครเอกชนหรือ NGO ประเด็นสำคัญที่มีการระดมความคิดเห็นในการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชนนั้น แบ่งออกเป็นดังนี้
1. ที่ผ่านมาการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นไปในลักษณะใด การเรียนรู้นั้น เพียงพอที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยให้มั่นคงและยั่งยืนได้หรือไม่
มีความเห็นเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชนในอดีตหลายประเด็น อาทิ กระบวนการเรียนรู้แบบการปลูกฝังกล่อมเกลาในสถาบันการศึกษา การสร้างเครื่องมือและคู่มือเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจการเมืองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนของหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการให้การเรียนรู้เชิง cognitive domain เป็นด้านหลัก ในส่วนของประสบการณ์ตรงหรือด้าน experience domain เป็นเพียงประสบการณ์ที่มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้โดยมีรูปแบบที่ตายตัว โดยผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่สำคัญคือรูปแบบของการเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้อง และการประท้วง การจัดกิจกรรมตามกรอบการส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน สถาบันการศึกษาและสถาบันทางการเมือง ภายใต้กรอบกฎหมายและการกำกับดูแลจากรัฐ
กล่าวได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น สังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่เรียนรู้วิถีชีวิตประชาธิปไตยอย่างเพียงพอ ทั้ง ๆ ที่สังคมเปิดมากขึ้น แต่โครงสร้างทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางการเมืองยังไม่เปิดเต็มที่ ประชาชนจึงยังมีความขัดแย้งและคับข้องใจระหว่างความรับรู้ทางการเมืองในมิติของการพัฒนาการเมืองสู่วิถีประชาธิปไตย กับประสบการณ์จริงในระบบการเมืองที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า วิถีประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมือง และการพัฒนาการเมืองไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต
2 แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชน ควรเป็นอย่างไร
มีความเห็นที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองนั้น จะต้องมีแนวทางเดียวกับการสร้างวิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตย เริ่มจากระดับพื้นฐานคือครอบครัว การศึกษา การดำเนินชีวิตของประชาชนที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนจึงไม่จำกัดที่การให้ความเข้าใจ การสร้างแบบจำลองในการเรียนรู้ แต่ควรเรียนรู้จากเหตุการณ์จริง และประสบการณ์ตรง นั่นคือ การมีช่องทางที่เปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
เรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องคำนึงถึงในการจัดกระบวนการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยสู่ประชาชน คือ การมีข้อมูลข่าวสารที่พอเพียง และช่องทางที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะดวก และหลายช่องทาง ได้แก่
- การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวัน การติดต่อสัมพันธ์กับชุมชน องค์กร ปกครองท้องถิ่น รัฐหรือกลไกรัฐ การแสดงออกถึงความต้องการเพื่อการปกป้อง รักษาผลประโยชน์ของตนเอง ชุมชน การมีความรู้เข้าใจกิจกรรมสาธารณะ
- การเรียนรู้จากสังคมแวดล้อม ผ่านสื่อทุกประเภท อาทิ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังควรจะต้องมีองค์ความเรื่องรู้วิถีประชาธิปไตย ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความตระหนักที่เท่าทันกับกติกา กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบหรือประเด็นทางการเมือง เพื่อการประเมินและตัดสินใจโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำ ซึ่งโดยพื้นฐานทางวัฒนธรรมสังคมพุทธ มีปรัชญากระบวนเรียนรู้เหตุ/ผลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
สฤษดิ์ วิฑูรย์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1 Rex Bloomfield และ ชัยอนันต์ สมุทวณิช , คู่มือการเรียนการสอนพลเมือง-พลเมืองโลก : การบูรณาการการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามแนวทางรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ,กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพมหานคร 2545
2 อาทิ สังคมไทยยังนิยมการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบเผด็จการมากกว่าร่วมมือ โรงเรียนสอนประชาธิปไตย แต่บ้าน (ครอบครัว) ไม่สอน ประชาชนเรียกร้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง การตรวจสอบการทำงานของรัฐหรือราชการ แต่มีกระบวนการข่มขู่คุกคาม ทำให้ประชาชนกลัวภัยการเมือง ไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญและขาดความเชื่อมั่นวิถีประชาธิปไตย
From : http://www.fpps.or.th
|