ปฏิรูปการเมือง
มองเศรษฐกิจ ปี 2546

ถอดความจากการสนทนาระหว่าง ศ.ดร.สมศักดิ์ ชูโต ผอ.โครงการศึกษานโยบายสาธารณะ สถาบันนโยบายศึกษา กับ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. 1494 MHz AM ออกอากาศวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2546 เวลา 17.00-18.00 น.

ก่อนจะมองเศรษฐกิจปี 2546 ควรจะเริ่มต้นที่การเมืองต่างประเทศก่อน เพราะปีนี้มีหลายเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

เรื่องแรกเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อทุกๆ คน คือ เรื่องสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก เพราะแม้ว่าทีมตรวจอาวุธของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติจะกำลังทำงานอยู่ก็ตาม แต่ขณะนี้สหรัฐฯ ได้ส่งทหารเข้าไปในตะวันออกกลางแล้วประมาณ 50,000 คน ซึ่งทำให้แน่ใจว่าจะเกิดสงครามแน่ แต่สิ่งที่ต้องคาดเดาเพื่อให้สามารถหาทางรองรับแก้ไขได้หากเกิดสงคราม คือ สงครามจะเกิดอย่างไรและเมื่อไร จะจบเร็วหรือยืดเยื้อ

อีกเรื่อง คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศแล้วว่าจะใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการจัดการ แต่ก็ยังมีเรื่องให้ติดตาม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้เองเพิ่งจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ประกาศนโยบายเด่นชัดสองเรื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ได้รับเลือกตั้ง คือ หนึ่ง จะเป็นญาติดีกับเกาหลีเหนือ และสอง ต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อเกาหลีเหนือใช้วิธีการทูตโต้ตอบสหรัฐฯ โดยการชักชวนประเทศอื่นๆ รวมทั้งเกาหลีใต้ด้วย ให้ต่อต้านสหรัฐฯ จึงเป็นประเด็นว่าเกาหลีใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังจะสนับสนุนสหรัฐฯ เช่นเดิมหรือไม่

ประเทศที่สามคือบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจน หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปลายปี 1998 และต้นปี 1999 รัฐบาลปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวทำให้ค่าเงินตกลงไปมาก บราซิลได้ขอความช่วยเหลือจาก IMF ประมาณ 200,000 ล้านเหรียญ ทำให้เจ้าหนี้ส่งมือขวาของจอร์จ โซรอส เข้ามาจัดการบริหารการเงินตามนโยบายที่ Wall Street สั่งมา แต่หลังจากมีการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์บราซิลที่เป็นกลางเอียงซ้าย ชนะเลือกตั้งเพราะมีฐานเสียงจากมวลชนกว้างขวาง ได้ให้สัญญาว่าจะขจัดความยากจน ให้ประชาชนมีอาหารกินวันละสามมื้อ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะบริหารประเทศอย่างไรโดยที่สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงไว้ได้ในขณะที่ต้องดำเนินนโยบายการเงินภายใต้เงื่อนไขที่ประธานาธิบดีคนเก่าได้ทำไปแล้ว และในขณะเดียวกันบราซิลก็มีปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ๆ ในประเทศ เช่น จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้อย่างไรในขณะที่มีปัญหาการขยายตัวของบัตรเครดิตทำให้ใน 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ NPL เพิ่มขึ้น 11-12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าสูงมาก และแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันการบริโภคภายในอย่างสุดกู่ โดยหวังว่าจะเป็นตัวแปรไปสู่การขยายตัวของ GDP แต่ก็มีปัญหาว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นจะยั่งยืนไหม เพราะจะมี side effect ตามมา จะกลายเป็นเรื่องของต้นทุนที่จะต้องตามแก้ปัญหาต่อหรือไม่

ในบรรดาประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ปฏิรูปไปไกลที่สุดในเชิงปริมาณ เพราะได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดำเนินนโยบายการเงินการคลังสารพัดรูปแบบ ค่อนข้างใช้สูตรสำเร็จตามสูตร IMF ซึ่งในช่วงแรกก็ไปด้วยดี GDP พลิกฟื้น หลายตัวแปรที่คาดว่าจะต้องใช้เวลานานก็แก้ไขได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของเกาหลีใต้ตรงข้ามกับญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมองว่าตนเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะถูกบังคับให้ตามใครได้

ในต้นปีเช่นนี้บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจพากันระมัดระวังตัวไม่กล้าพูดมากเพราะตัวแปรที่กำหนดเศรษฐกิจนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรภายนอกประเทศ สำหรับเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิดกว้างรองรับเงินทุนจากต่างประเทศ มีรายได้มาจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ความไม่แน่นอนของตัวแปรในแง่การค้าระหว่างประเทศจึงมีความไม่แน่นอนมากกว่าเดิม เช่น จะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักหรือไม่ ถ้าเกิดจะยืดเยื้อหรือไม่ เป็นเรื่องที่ประเมินยาก เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น เป็นสิ่งที่คุกคามเศรษฐกิจโลกทุกที่ โดยเฉพาะในภาคการเงินที่ประกอบด้วยตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ การปล่อยเงินกู้ของธนาคาร อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวแปรที่ใหญ่โตมากมาย เศรษฐกิจของหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯ โตจากภาคเหล่านี้ และภาคการเงินที่โตก็มาจากปัจจัยหนึ่ง คือ การแสวงหาผลตอบแทนจากภาคการเงินเอง ในอดีตภาคการเงินทำหน้าที่ให้บริการแก่ภาคเศรษฐกิจการค้า เช่น คนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อเอากำไรไปลงทุน แต่ปัจจุบันกำไรในภาคการเงินจากตัวเองมีมหาศาล ทำให้ภาคการเงินถูกกำหนดด้วยการเก็งกำไร การหาความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่ขึ้นลง เป็นผลทางจิตวิทยาสูง ตัวแปรที่กำหนดผลตอบแทนในการลงทุนไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว เห็นได้จากมีนักเล่นหุ้นจำนวนน้อยที่ซื้อหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล ส่วนใหญ่จะซื้อขายเพื่อหวังผลต่างจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ที่เรียกว่า Capital ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่โตด้วยภาคการเงินเป็นหัวหอกเกิดการหยุดชะงัก ถูกจองจำ จำกัดจากตัวแปรของความไม่แน่นอน คำถามที่สำคัญคือ ตลาดดาวน์โจนส์ของสหรัฐฯ ที่ตกมาแล้ว 3 ปีซ้อนจะตกลงอีกหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีกหรือเปล่า

สหรัฐฯ คงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกได้ภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะตัวนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ ดัชนีตลาดหุ้นและภาคไอที เป็นลักษณะของ casino economy เล่นแบบเดิมพันแบบพนัน อาจมีข้อดีคือความกระจายตัวมาก คนกว่าครึ่งประเทศมีส่วน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องปรับฐาน คงไม่พุ่งทะยานต่อไป คงต้องโยงเข้าไปที่เศรษฐกิจจริงซึ่งมีลักษณะตรงข้าม เห็นได้จากการว่างงานในสหรัฐฯ ปีที่แล้วสูงขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์ หากอ่านหนังสือพิมพ์จะพบข่าวยอดฮิต คือ การเลิกจ้างงานของภาคธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในภาคการเงิน การขนส่ง สื่อสาร ที่ผ่านมากองทุนบำเหน็จบำนาญมีการสะสมไว้มาก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่หุ้นไม่ขึ้น ไม่สามารถจะสร้าง Capital ได้ จะส่งผลกระทบต่อสวัสดิการ ระบบการจ้างงานซึ่งเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ จะรักษาภาคการเงินคือภาคเศรษฐกิจจริง ถ้าจะรักษาภาคการเงินจะต้องให้ค่าดอลลาร์แข็งต่อไป เพราะถ้าดอลลาร์อ่อนคนจะตกใจเทขายทรัพย์สินทิ้ง ทั้งคนอเมริกันและต่างชาติ โดยเฉพาะต่างชาติยิ่งขายง่าย เอาเงินกลับบ้าน ดอลลาร์จะอ่อนทันที ถ้าจะรักษาภาคเศรษฐกิจจริงต้องยอมให้ค่าดอลลาร์อ่อน เพราะดอลลาร์แข็งไม่สามารถจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ ถ้าไม่สามารถรักษาเศรษฐกิจจริงได้ การว่างงานจะเพิ่มขึ้น

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากเพราะประเทศส่วนใหญ่ใช้ดอลลาร์ในการซื้อขายสินค้า การเปลี่ยนแปลงค่าดอลลาร์จึงมีนัยสำคัญของทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า ส่งออก การลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงการตัดสินใจท่องเที่ยว ถ้าดอลลาร์เปลี่ยนจะส่งผลปั่นป่วนไปทั่วโลก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาไม่สามารถแก้ไขตัวเองได้เต็มที่ มีปัญหาทั้งเรื่องเงินฝืด หนี้สาธารณะ NPL ในภาคการเงิน หากดอลลาร์อ่อนลงเงินเยนก็จะแข็งขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นจะยอมหรือไม่

เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงทั้งกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องการค้าการลงทุน ภาคการเงิน ตลาดเงินตลาดทุน ฯลฯ ถ้าเรามีแผนรองรับไม่ว่าสงครามจะจบเร็วหรือช้า จะสามารถบริหารวิกฤต ทำให้สามารถช่วงชิงโอกาสอาจจะตั้งหลักใหม่ได้ ในเชิงเปรียบเทียบแล้วประเทศไทยไม่ได้เลวร้าย เมื่อเทียบกับบางประเทศในเอเชียอาจจะค่อนข้างดีด้วยซ้ำไป เช่น การส่งออกที่มีปัญหาแต่ก็มีการบริโภคภายในประเทศมาช่วยดำรงรักษาการขยายตัวของ GDP ไว้ได้ การที่การบริโภคภายในสูงเป็นความสำเร็จเชิงปริมาณในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่จะต้องผลักดันต่อไปเพื่อหามาตรการที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงปริมาณเข้าหาคุณภาพให้ได้ ในช่วงสั้นเชิงปริมาณเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะถือเป็นความสำเร็จทดแทนการส่งออกไม่ได้

การมองหาตลาดส่งออกที่อื่นเช่นจีนนั้นอาจจะไม่สามารถทดแทนได้กับตลาดส่งออกปัจจุบันเช่นสหรัฐฯ เพราะเรามีการค้ากับประเทศจีนน้อยมาก ยอดส่งออกของเราไปจีนมีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผิดกับสหรัฐฯ ที่ยอดส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และรายได้ต่อหัวของคนอเมริกันก็สูงกว่าคนจีนมาก จึงต่างกันในแง่ศักยภาพของการบริโภค และข้อสำคัญคือ จีนก็มีปัญหาของตัวเอง เช่น ปัญหาการว่างงาน เพราะมีประชากรมาก สินค้าออกก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับไทย จีนจึงมีสองนัย คือ เป็นทั้งคู่ค้าและพันธมิตร และขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งด้วย การจะบริหารสองสิ่งในเวลาเดียวกันจึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ว่าจะเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าอย่างไร และต้องทำให้ได้ภายใน 5 ปีนี้

ในทางกลับกัน จีนมีโอกาสที่จะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้อีก เพราะมีครบทุกด้านที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจ คือ

  • Economy of scale คือ สามารถผลิตได้ปริมาณมาก ตลาดในประเทศก็ใหญ่
  • Economy of speed คือ ความเร็วในการผลิต จีนเชื่อมโยงไอทีที่ย้ายฐานมาจากทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งขบวนการผลิตและไอที เช่น โนเกีย เกือบจะย้ายฐานจากฟินแลนด์มาทั้งหมด
  • Economy of Scope มี networking ที่ดี ในประเทศมีการเชื่อมโยงระหว่างมณฑลที่แต่ละมณฑลใหญ่เท่าประเทศ จีนลงทุนด้าน infrastructure มาก จีนลงทุนกับ highway superhighway และ motorway ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ พัฒนามณฑลภาคกลางและด้านในที่ยังล้าหลัง และยังส่งเสริมไอทีมากจนการเชื่อมโยงเกือบจะเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว ทำให้ transaction cost ต้นทุนในการขนส่งติดต่อต่ำ ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า network ด้านสาธารณูปโภคและขนส่งจะครบถ้วน เมื่อการขนส่งเชื่อมโยงกันได้หมด จีนสามารถใช้ศักยภาพภายในของตนเองเป็นประโยชน์และยังมี network ออกนอกประเทศไปยังตลาดเช่นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้


ข้อสำคัญ คือ ความได้เปรียบของจีนในการพัฒนา R&D เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วแข่งขันกันด้วยจุดนี้ ขณะนี้ GDP ของจีนใหญ่กว่าไทยสิบเท่าตัว สัดส่วนของต้นทุนที่ลงทุนมากกว่าเราสิบเท่าตัว เขาผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้ปีละหกแสนคน มากกว่าสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ มีความพร้อมใน R&D และยังสามารถ import จากทั่วโลก

สินค้าส่งออกในอนาคตจะต้องสร้างแบรนด์เนมของตนเอง ในเอเชียเพียงญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีแล้ว แต่อีกไม่เกินสิบปีจะมีแบรนด์เนมของจีน สิ่งนี้ทำให้ญี่ปุ่นกังวลมาก และข้อสำคัญคือ จีนมีความเข้มแข็งทางการเงิน สามารถระดมเงินได้ถูก กู้ที่ไหนก็ได้ มีฮ่องกงเป็นศูนย์การเงินของตนเอง

การค้าระหว่างไทย-จีน จึงมีความหวังและโอกาสจากทั้งสองฝ่าย โอกาสที่เราจะซื้อสินค้าจากจีนมีมากว่าปัจจุบัน แต่โอกาสการส่งออกไปจีนก็มีเช่นกันเพราะเราก็มีวัตถุดิบเยอะและจีนก็มีผู้บริโภคมากเช่นกัน

From : http://www.fpps.or.th