บทความ (Thai)
ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ใบแดง”ในการปฏิรูปการเมือง

ที่มาของ “ใบแดง”

การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการเมืองเนื่องจากความขัดแย้งกันในประเด็นหลัก
ของการให้อำนาจในการ “ตัดสิทธิ์”ผู้สมัครที่ทุจริตหลายคนเรียกอำนาจนี้ว่า “ใบแดง”เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนทั้งนี้
เพราะในการเล่นฟุตบอลนั้นกรรมการผู้ตัดสินมีสิทธิที่จะให้ “ใบแดง”แก่นักฟุตบอลที่ทำผิดกฎกติกาการเล่น

ที่มาของการการแจกใบแดงนั้นมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตัดสิทธิ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่
ผ่านมานี้ทำให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐสภาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการตัดสิทธิ์นี้หรือไม่
ประธานรัฐสภาจึงได้เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอคำวินิจฉัยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจดังกล่าวหรือ
ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดด้วยเสียงข้างมากว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจใน
การออกระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิหรือ “ตัดสิทธิ์”ดังกล่าวแม้ว่าผู้สมัครนั้นจะถูกแขวนชื่อเกินกว่าหนึ่งครั้งก็ตาม

ความขมขื่นจากการเลือกตั้งส.ว.

ก่อนหน้านั้นในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2542และกำหนดให้
วันที่ 4 มีนาคม 2543 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ว. ทั่วประเทศครั้งแรก ปรากฏว่ากกต.ได้รับรายงานการทุจริตเช่นแจก
เงิน แจกของ จัดเลี้ยง และการจัดตั้งหัวคะแนนในหลายสิบพื้นที่ ทำให้กกต.ประกาศรับรองรายชื่อส.ว.รอบแรก
เพียง 122 คน จากทั้งหมด 200 ที่นั่งทั่วประเทศ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 35 จังหวัดเพื่อให้ได้ส.ว.อีก 78
คน

การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งที่สองมีขึ้นในวันที่ 29เมษายน 2543ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างบางตาเพียง 53 %ของ
ผู้มีสิทธิ์ผิดกับครั้งแรกที่มีผู้มาเลือกตั้งถึง 72%และก็ปรากฏว่าการทุจริตเลือกตั้งยังคงมีและยังมีการพัฒนาในรูป
แบบที่แยบยลขึ้นเช่นนำบัตรประชาชนของผู้ที่เสียชีวิตแล้วมาเปลี่ยนรูปถ่ายนำไปใช้สิทธิ์แจกเทียนก่อนเลือกตั้ง
แล้วให้นำไปแลกเงินทีหลังเปิดบัญชีเงินฝากให้รายละ 100บาทนอกเหนือไปจากการแจกเงินแจกของในรูปแบบ
เดิมๆ

การทุจริตในการเลือก ส.ว. ครั้งที่สอง ทำให้ กกต. ประกาศรับรองผู้สมัครเพียง 66 คนที่เหลือ 12คนนั้นมี 4คนที่
เคยถูกแขวนไปแล้วหนึ่งครั้งกกต.จึงประกาศว่าจะตัดสิทธิ์ผู้ที่ถูกแขวนเกินกว่าหนึ่งครั้งไม่ให้ลงรับเลือกตั้งในครั้ง
ต่อไปแนวทางนี้ทำให้สื่อมวลชนเรียกว่า “แจกใบแดง”เพื่อเกิดความสั้นกระชับและเข้าใจง่าย

ในเวลาเดียวกันนั้นได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สุญญากาศ” ในรัฐสภาคือระหว่างที่ส.ว.ชุดเก่าที่มาโดยการแต่งตั้งพ้นวาระ
ไปแล้วส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ยังไม่ครบศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าวุฒิสภายังไม่สามารถจะเปิดประชุมได้จนกว่าจะ
มีสมาชิกครบ 200คนตามรัฐธรรมนูญกำหนดดังนั้นจึงเกรงกันว่าหากรัฐสภาเปิดสมัยประชุมครั้งต่อไปโดยยังมี
ส.ว.ไม่ครบองค์ประชุมจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

ในทางทำนองเดียวกันหากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2543นี้ซึ่งจะต้องเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่
จะมีถึง 500ที่นั่งหากมีการประกาศแขวนผู้สมัครและจัดเลือกตั้งใหม่ไปเรื่อยๆก็จะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้
เช่นกัน

มีการเสนอความเห็นให้กกต.ประกาศผลรับรองการเลือกตั้งไปก่อนแล้วค่อยถอดถอนทีหลังเมื่อพบหลักฐานว่า
ทุจริต ในกรณีนี้กกต.ได้ให้ความเห็นว่าไม่สามารถจะทำได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญกฎหมายเลือกตั้งให้อำนาจ
กกต.ในการจัดการเลือกตั้งใหม่แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการถอดถอนหากมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว

ข้อขัดแย้งในทางกฎหมายนี้จึงทำให้มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งในที่สุดได้
นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับไปดำเนินการ

จากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องอำนาจการตัดสิทธิ์ผู้สมัครส.ว.ทำให้ทุกคนที่ถูกไม่รับรองผลในครั้งที่
สอง มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้งในครั้งที่สาม ในวันที่ 4มิถุนายนซึ่งก็ได้มีการประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัครอีกเพียง 8คน
เนื่องจากยังมีการทุจริตอยู่อีก การเลือกตั้งครั้งที่สี่ จึงต้องมีขึ้นใน24มิถุนายนและวันที่ 9กรกฎาคมซึ่งปรากฏว่ามี
ผู้มาลงคะแนนน้อยกว่าครั้งที่สองและสามและเนื่องจากยังพบว่ามีการทุจริตในครั้งที่สี่จึงประกาศรับรองผู้สมัคร
เพียง 3 คนต้องจัดการเลือกตั้งครั้งที่ห้าในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดสุดท้ายในวันที่ 22กรกฎาคมจึงได้ผู้
สมัครคนสุดท้าย

เป็นโชคดีของทุกฝ่ายที่การเลือกตั้งครั้งที่ห้ากกต.ได้รับรองผลผู้สมัครลำดับที่ 200จึงไม่ต้องจัดการเลือกตั้งครั้งที่
หก อีกตามที่สื่อมวลชนหลายฉบับวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งจะไม่มีสิ้นสุดแต่อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งทั้ง 5ครั้งนั้นได้
ใช้เงินงบประมาณไปกว่า 2,300ล้านบาทใช้ระยะเวลากว่าห้าเดือนจัดว่าเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเงินและเวลา

การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง

ในวันที่ 4กรกฎาคม 2543คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า
ด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. และ ส.ส. โดยมีคณะทำงาน 5 ฝ่ายๆ ละ 3 คนรวม 16คนประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆนักการเมืองและนักวิชาการโดยมีนายมีชัย
ฤชุพันธุ์อดีตประธานวุฒิสภาเป็นประธานคณะทำงานทั้งหมด

คณะทำงานได้พิจารณาปัญหาขัดข้องต่างๆ ที่มาจากข้อเสนอเร่งด่วนของกกต.ใน 5ประเด็นคือ

1.การดำเนินการกับผู้ทุจริตเลือกตั้ง
2.มาตรการในการตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง
3.การใช้สิทธิลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง
4.การเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ
5.การนับคะแนนเลือกตั้ง

ที่ประชุมได้สรุปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ว่าสมควรเพิ่มอำนาจให้กกต.ในการเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำส่งเอกสารหรือ
ตรวจค้นสถานที่ได้นับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีหมายค้นพร้อมให้อำนาจในการสั่งยึด-
อายัดเงินซื้อเสียงโดยส่งให้ศาลไต่สวนได้ภายใน 3วัน

นอกจากนี้ยังให้อำนาจ กกต.ในการตัดสิทธิ์ผู้สมัครหรือที่เรียกกันว่าการแจก “ใบแดง”ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง
และหากหลังวันเลือกตั้งแล้วพบการทุจริตสามารถจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้อีกหนึ่งครั้งหากเลือกตั้งไปแล้วครบ
30วันไม่สามารถจะได้สมาชิกหรือผู้แทนที่สุจริตทั้งหมดให้กกต.ประกาศผลไปก่อนแล้วจึงร้องคัดค้านภายหลัง

คณะทำงานนี้ได้ทำการพิจารณาและยกร่างกฎหมายเลือกตั้งใหม่โดยเร่งด่วนและได้เสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวัน
ที่ 2สิงหาคมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวและคณะกรรมการประสานงานพรรค
ร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)ได้ส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นการเร่งด่วน

ในการกระชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2สิงหาคมที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยมีร่าง 3 ฉบับด้วยกัน คือ 1.ร่างของรัฐบาลคือร่างของคณะทำงานนายมีชัย
ฤชุพันธุ์ 2. ร่างของพรรคชาติไทยและ 3.ร่างของพรรคประชาธิปัตย์โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.ฉบับนี้

ประชาชนให้ความสนใจ

การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาโดยตลอดทั้งนี้ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะยอม
แก้ไขร่างกฎหมายเลือกตั้งตามที่กกต.เสนอนั้นสื่อมวลชนได้วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ต้องการจะให้มีการแก้ไขจน
กระทั่งสถาบันพระปกเกล้าต้องออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนอันเป็นเหตุให้มีการตั้งคณะทำงานยกร่างอันมีนายมีชัย
ฤชุพันธุ์เป็นประธาน

ดังนั้นเมื่อร่างฉบับนี้เข้าสู่สภาและปรากฏว่ามีร่างของพรรคชาติไทยและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต่างก็เป็นพรรคร่วม
รัฐบาลเสนอเข้ามาด้วยจึงทำให้เป็นที่วิพากษ์กันถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขกฎหมายสำคัญที่เป็นกลไก
หนึ่งของการปฏิรูปการเมือง

ข้อขัดแย้งในการแจกใบแดง

ประเด็นสำคัญที่สุดที่มีการพิจารณาถกเถียงกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งก็ประกอบด้วยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้ง
หมดนั้น ก็คืออำนาจในการแจกใบแดงของกกต.ซึ่งในร่างของนายมีชัยได้ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการ
เลือกตั้งที่จะวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดได้โดยให้แจ้งความพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยัง
คณะกรรมการการสอบสวนที่ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาประธานศาลปกครองสูงสุดและผู้ตรวจการแผ่นดินของ
รัฐสภา

ตามร่างฉบับนี้เขียนไว้ว่าหากคณะกรรมการชุดนี้เห็นไม่ตรงกับคณะกรรมการการเลือกตั้งคณะกรรมการการเลือก
ตั้งมีสิทธิที่จะวินิจฉัยตามความเห็นเดิมได้แต่ต้องประกาศคำวินิจฉัยพร้อมเหตุผลและความเห็นของคณะกรรมการ
การสอบสวนไว้ในราชกิจจานุเบกษา

อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการแจกใบแดงแม้จะมีความเห็นแตกต่างไปจากคณะกรรมการการสอบสวน
นี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นเครื่องมือในการป้องกันคนชั่วไม่ให้เข้าสู่สภาซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปการเมือง

ในการพิจารณารอบแรกในวันที่ 17 สิงหาคมคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้มีมติ 9ต่อ 6ให้ริบใบแดง
กกต. ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเพิกถอนสิทธิผู้สมัครเลือกตั้งโดยมีเหตุผลว่าไม่เชื่อมั่นในกกต.จังหวัดว่าจะเป็นกลาง
ซึ่งนายธีระศักดิ์ กรรณสูตประธานกกต.ได้ให้ความเห็นว่าการทำเช่นนั้นเท่ากับว่ากลับไปสู่ระบบเดิมที่การเลือก
ตั้งยืดเยื้อและยังเป็นการโยนภาระให้แก่ศาล

นอกจากนั้นกกต.จังหวัดทั่วประเทศได้ออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชน
ตัดสิน

ในการประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 24สิงหาคมคณะกรรมาธิการได้ทำการแก้ไขมาตรา 85/3ในประเด็นสำคัญของใบ
แดงโดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครได้และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งคำสั่ง
นั้นพร้อมด้วยสำเนาการสืบสวนสอบสวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและคณะ
กรรมการการเลือกตั้งกระทำการโดยสุจริตหรือไม่โดยให้ศาลฎีกาเรียกผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ์มาโต้แย้งและแสดงหลัก
ฐานหากศาลฎีกาไม่มีคำวินิจฉัยภายในเจ็ดวันให้สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแต่หากศาลฎีกามีคำวินิจฉัย
ว่าอย่างไรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการพิจารณาประกาศผลตามอำนาจหน้าที่
การตัดสินใจเช่นนี้จึงถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง

เสียงวิพากษ์รายวันจากสื่อ

ในทันทีที่ผลการพิจารณาออกมาเช่นนี้สื่อมวลชนทุกฉบับได้เขียนบทนำและคอลัมน์ต่างๆวิจารณ์ให้ความเห็นกัน
อย่างกว้างขวางเช่น

ทีมข่าวการเมือง นสพ. ไทยรัฐ ได้วิเคราะห์ไว้ในบทความหน้า 3 วันอาทิตย์ที่ 27สิงหาคม 2543ว่า “ถ้ากกต.ไม่มี
อำนาจแจกใบแดง ก็คงไม่สามารถสยบการซื้อเสียงการทุจริตโกงเลือกตั้งของนักการเมืองพันธุ์เก่าได้และถ้าสยบ
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้การปฏิรูปการเมืองก็ล้มเหลว”

คอลัมน์ “เดินหน้าชน” ในหน้า 6หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24สิงหาคม 2543ได้เขียนไว้ว่า “...
การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้แทนที่จะช่วยให้การเลือกตั้งส.ส.ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามีความราบรื่น
และรวดเร็วกลับจะเป็นการฉุดรั้งให้การปฏิรูปการเมืองหยุดชะงักหรือถอยหลังลงคลอง...ในความเห็นของผม
(ผู้เขียนคอลัมน์นายอภิชาตศักดิเศรษฐ์)หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปการเมืองก็ต้อง
ผลักดันผ่านไปทางสภาผู้แทนราษฎรยอมเพิ่มอำนาจในการออกใบแดงให้กับกกต. ....นี่เป็นโอกาสสุดท้ายและ
เป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลต้องกล้าลงมาถือธงนำ !!”

และในคอลัมน์เดียวกันฉบับวันพุธที่ 30สิงหาคม 2543ได้วิจารณ์ประเด็นการแก้ไขนี้ไว้ว่า “แต่ขณะนี้เรากำลัง
เบี่ยงเบนประเด็นของการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำลังใจจดใจจ่อกับ
กระบวนการให้ใบแดงของ กกต. โดยมีสมมติฐานว่า กกต.ไว้ใจไม่ได้กกต.เหลิงอำนาจบ้าอำนาจเลยต้องมีการ
ตรวจสอบควบคุมกำลังคิดให้กระบวนการของศาลมาใช้ในการควบคุมตรวจสอบโดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินในกรณี
ผู้สมัครขาดคุณสมบัติตั้งกระบวนการให้กกต.ออกใบแดงกับผู้ทุจริตแต่ข้อเสนอนั้นต้องให้ศาลฎีกาตัดสินอีกครั้ง
หนึ่ง ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าไม่น่าจะออกใบแดง ก็ส่งเรื่องให้ กกต.ตัดสินอีกทีแต่คำตัดสินของกกต.ครั้งนี้ต้องรับผิด
ชอบตามกฎหมาย และหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ กกต.คนที่ตัดสินก็คือศาลอีกนั่นเอง !แล้วกกต.หน้าไหนจะ
กล้าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเพราะศาลท่านมีมาตรฐานจะตัดสินไม่เหมือนกันได้อย่างไร”

เสียงสนับสนุนจากตัวแทนภาคประชาชน

ส่วนในภาคประชาชนนั้นรศ.สมชัยศรีสุทธิยากรเลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยได้เขียนไว้ในบท
ความ ใบเหลือง ใบแดงบนจุดยืนของการปฏิรูปการเมืองไทยในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์ที่
29สิงหาคม 2543ว่าก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจทุกฝ่ายให้ตรงกันว่าสังคมต้องการกลไกในการป้องกันกลั่นกรองไม่
ให้คนชั่วเข้าสู่สภาดังนั้นการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของสาธารณะมิใช่เพื่อนักการเมืองหลัก
การสำคัญที่ควรยึดถือนั้นคือ หนึ่งทุกคนต้องการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมสองกกต.ต้องสามารถจัดการเลือก
ตั้งอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดสามการเลือกตั้งต้องสั้นเพื่อไม่ให้การบริหารประเทศตกเป็นหน้าที่รัฐบาล
รักษาการอย่างยาวนานสี่ต้องสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมี
อำนาจเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมอย่างเต็มที่ให้กรรมการการเลือกตั้งมี
ทั้งหน้าที่และมีทั้งอำนาจที่สมดุลไม่ใช่คาดหวังการเลือกตั้งที่ดีแต่กลับไม่ให้อำนาจในการกำกับดูแล

“...ดังนั้นหากจะให้การแข่งขันเป็นธรรมและถึงใจต้องคืนใบแดงเต็มใบและพร้อมไล่กรรมการที่ไม่เป็น
กลางออก ...ใบเหลือง หมายถึง การวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ใบแดงหมายถึงการตัดสิทธิ์ผู้สมัครที่ทุจริตมิให้
อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่รอบต่อไปกลไกทั้งสองประการคงต้องใช้ควบคู่กันเพื่ออย่างน้อยสร้างความ
ยำเกรงแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่เคยชินกับการทุจริตในการเลือกตั้ง”

และท้ายที่สุดนายมีชัยฤชุพันธุ์เจ้าของร่างฉบับที่กำลังเป็นที่วิพากษ์กันอยู่ในขณะนี้ก็ได้เขียนบทความลงในเว็บ
ไซด์ส่วนตัวชื่อ MEECHAITHAILAND.Com เมื่อวันที่ 26สิงหาคมและหนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้นำไปตีพิมพ์ใน
ชื่อคอลัมน์ ความคิดเสรีของ ‘มีชัย’ ‘ใบแดง’ ของกกต.ฉบับวันอังคารที่ 29สิงหาคม 2543สรุปในตอนท้ายว่า

“ผมยังนึกไม่ออกว่าถ้ากฎหมายเลือกตั้งถูกแก้ไขให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯใน
ครั้งหลังสุดนี้จริงกกต.จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไรเพราะไม่เพียงแต่แก้ไขเพื่อโอน
อำนาจการให้ใบแดงไปแบ่งครึ่งใบกับศาลฎีกาเท่านั้นยังโอนอำนาจอื่นๆเช่นอำนาจการโต้แย้งคำสั่งของผู้อำนวย
การการเลือกตั้ง จาก กกต. ไปเป็นของศาลฎีกาอีกด้วยแก้กันไปแก้กันมาแทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกกต.
กลับกลายเป็นการตัดมือตัดเท้าของกกต.ออกหมดพร้อมทั้งแถมขื่อคามาให้อีกหนึ่งอัน”

ทางออกของรัฐบาล

ในที่สุดรัฐบาลได้หาทางออกโดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30สิงหาคมได้มีมติให้อำนาจกกต.ในการแจกใบ
แดงแต่กกต.จะต้องยอมรับ 11ประธานร่างกฎหมายของกฤษฎีกาเป็นกรรมการตรวจสอบกลั่นกรอง
ผลจากการรวมตัวผนึกกำลังระหว่างกกต.และภาคประชาชนโดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกลางในครั้งนี้ทำให้ที่ประชุม
กรรมาธิการได้ลงมติ 11ต่อ 4ให้กลับไปใช้ร่างเดิมของนายมีชัยโดยมีการแก้ไขเพียงให้คณะกรรมการกลั่นกรอง
เป็น 11คนที่มาจากประธานกรรมการกฤษฎีกา 11คณะ

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่..)
พ.ศ. ....ได้ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 30สิงหาคม 2543หากผ่านสภาผู้แทนราษฎรจะ
ต้องนำเข้าสู่วุฒิสภาซึ่งหลายคนในนั้นได้ผ่านการต่อสู้กับกกต.มาแล้วในเรื่องการแจกใบแดงทำให้มีความกลัวว่า
วุฒิสภาจะรับร่างฉบับนี้หรือไม่

ในวันนี้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าทุกฝ่ายล้วนแต่มีความเห็นตรงกันว่า “ใบแดง”และก็อาจจะรวมถึง “ใบเหลือง”ด้วยเป็น
เครื่องมือในการปฏิรูปการเมืองป้องกันคนชั่วเข้าสภาเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวโกงบ้านกินเมืองสร้างความเสีย
หายให้กับประชาชนทั้งประเทศ

ดังนั้นหากจะตั้งสมมติฐานว่าวุฒิสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้งทุกคนเป็นผู้ทรงเกียรติที่ได้รับการประกาศรับรองแล้วโดย
กกต.ว่าผ่านการเลือกตั้งมาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมดังนั้นความวิตกนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
การจะให้ใบแดงมีความศักดิ์สิทธิ์สมดั่งเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ใช้และมี
อำนาจเต็มแค่ไหนในการใช้
การปฏิรูปการเมืองทำให้เราได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540ที่สร้างองค์กรอิสระใหม่หลายองค์กร
รวมทั้งกกต.ด้วย

เกือบสามปีหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ประชาชนได้เลือกข้างที่จะสนับสนุนองค์กรอิสระหนึ่งแล้วแต่จะสนับสนุนทุกเรื่อง
หรือตลอดไปหรือไม่นั้นไม่มีใครสามารถจะตอบได้เพราะความจริงคือประชาชนสนับสนุนความถูกต้องชอบธรรม
หาใช่สนับสนุนใครหรือองค์กรใดเป็นพิเศษ

ดังนั้นความสำเร็จของการปฏิรูปการเมืองจึงไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ใบแดง”แต่เพียงอย่างเดียว
แต่อยู่ที่จิตสำนึกของประชาชนทุกคนว่าพร้อมที่จะ “ปฏิรูป”ตนเองหรือยัง

ผู้เขียน :ยศวดี--บุณยเกียรติ

From : http://www.fpps.or.th